นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทย และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า "ในคืนวันที่ 2 มกราคม 2561 นี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไป จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้ง หรือเรียกว่า ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)ที่ระยะห่างประมาณ 356,595 กิโลเมตร ซึ่งเข้าใกล้และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าคืนวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาเล็กน้อย และครั้งนี้ถือว่าใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2561 อีกด้วย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกในต้นปีใหม่นี้ เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์ช่วงดังกล่าวใกล้โลกมากที่สุด
โดยดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน มีผลกระทบต่อโลก อาทิ การเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2562 ที่ระยะห่างประมาณ 357,706 กิโลเมตร หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา หอดูดาวภูมิภาคภาคตะวันออกที่ใกล้กรุงเทพฯ จะจัดกิจกรรม ชมดวงจันทร์ใกล้โลกทั้งผ่านกล้องโทรทัศน์,ชมด้วยตาเปล่า พร้อมกับรับความรู้ด้านดาราศาสตร์ และการชมภาพยนตร์ดาราศาสตร์ผ่านท้องฟ้าจำลอง เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 22.00 น.