หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กล่าวถึง การดำเนินการต่อจากนี้ว่า เนื่องจากมีการปรับแก้ไขในหลายมาตรา สนช. จึงต้องตรวจสอบให้เรียบร้อย และคาดว่า จะส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และคณะกรรมการป.ป.ช. ตรวจสอบได้ในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2561 ซึ่งต้องรอดูว่าทั้งสองฝ่าย จะมีการส่งข้อโต้แย้งเพื่อขอตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่
ทั้งนี้ ในส่วนสมาชิก สนช. ที่งดออกเสียง 50 คน และลงคะแนนไม่เห็นชอบ 26 คน ในมาตรา 178 เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง และการละเว้นไม่นำคุณลักษณะ และลักษณะต้องห้าม มาบังคับใช้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน สนช. มีสิทธิ์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในมาตราดังกล่าวได้ และส่วนตัวมองว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ไม่เข้าเงื่อนไขการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการการพิจารณาประเด็นดังกล่าว จึงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตุลาการ 4 คนได้รับการงดเว้นการนำคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับ ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะต้องห้าม
ส่วนตุลาการอีก 5 คนที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว กฎหมายได้รองรับให้รักษาการต่อจนกว่าจะมีการสรรหาใหม่ ซึ่งทั้งหมดยังคงมีอำนาจตามปกติ แต่หากตุลาการบางคนเกรงว่าจะเกิดข้อกังขา ก็สามารถถอนตัวได้ เพราะกรรมการเพียง 5 คนก็เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุม แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่เคยมีใครยื่นตีความมาก่อน
นายพรเพชร กล่าวถึง กรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าสนช.ไม่รอบคอบในการออกกฎหมายจึงต้องการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 53/2560 แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในการขยายเวลาให้พรรคการเมือง สามารถดำเนินกิจกรรมพรรค ว่าไม่ใช่ สนช. ไม่รอบคอบ แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของกฎหมายหลายฉบับ ซึ่ง สนช. มีเวลาเพียง 60 วันในการพิจารณากฎหมาย จึงมุ่งเน้นเพียงกฎหมายฉบับเดียว จากนี้ในการจัดทำกฎหมายจึงต้องดูความสัมพันธ์กับกฎหมายฉบับอื่นด้วย และการที่ คสช. ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เชื่อว่าจะส่งผลต่อการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเรื่องการทำไพรมารีโหวต หรือการเลือกตั้งขั้นต้น ที่จะต้องดูว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการของ สนช. ที่จะแก้ไข เพื่อให้สามารถดำเนินการสอดคล้องกันได้
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้คำนวนว่าการขยับเวลาตามกฎหมายพรรคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายระบุหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเพื่อจัดทำกฎหมายให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมยืนยันว่า ความเป็นไปได้ที่ สนช. จะคว่ำกฎหมายลูก ส.ส. มีโอกาสน้อยมาก
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี