การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ในวาระ2และ3 ต่อจากเมื่อวาน ซึ่งยังเป็นการพิจารณาในมาตรา 37/1 ที่คณะกรรมาธิการฯ ร่างขึ้นมาใหม่ทั้งมาตรา โดยเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลได้ ทั้งนี้ นายสุรชัยชี้แจงว่า ขณะนี้มี 3 กลุ่มคือ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และสมาชิกสนช.ที่อภิปรายในประเด็นดังกล่าว
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยอภิปรายว่า ป.ป.ช.เสนอกฎหมายให้อำนาจป.ป.ช.ดักฟัง ซึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยอ้างว่าเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ ข้อที่ 50 ที่จะต้องทำ แต่ข้อที่ 50 จะต้องดูที่พื้นฐานและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ละประเทศด้วย ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่ดักฟังอยู่แล้ว สิ่งที่น่าวิตกคือ จะถูกครอบงำให้ใช้อำนาจทำลายล้างทางการเมืองและเรื่องส่วนตัวหรือไม่ และแม้การดักฟังข่าวสารจะเป็นวิธีการที่ทำให้ได้พยานหลักฐาน แต่ป.ป.ช.และกรรมาธิการเสียงข้างมากปฏิเสธที่จะกำหนดการถ่วงดุลอำนาจของป.ป.ช.ลงในกฎหมายไปด้วย นายภัทระ กล่าวว่า ผลงานชิ้นโบว์แดงของป.ป.ช.คือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ป.ป.ช.ทำ จับคนทุจริตทั้งนักการเมืองและข้าราชการมาลงโทษได้โดยปราศจากเครื่องมือดักฟัง ซึ่งป.ป.ช.ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ หลักการเดิมที่เป็นหัวใจของกฎหมายป.ป.ช.คือการถ่วงดุลอำนาจ โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบป.ป.ช.ได้ แต่ถูกถอดออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ ป.ป.ช.จนเกินไป ซึ่งในอนาคตอาจถูกใช้เป็นเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรืออาจถูกยุบควบรวมกับหน่วยงานอื่น เนื่องจาก มีอำนาจมากจนเป็นภัยต่อรัฐบาลได้
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานป.ป.ช. ในฐานะตัวแทนกรรมาธิการเสียงข้างมาก อภิปรายว่า ป.ป.ช.ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากอำนาจดังกล่าวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของป.ป.ช.ในการปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.ต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่มาใช้ให้การทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็สามารถร้องคัดค้านได้ตลอดเวลาทุกขั้นตอน อีกทั้งเหตุอันควรในการยื่นขอเข้าถึงข้อมูลนั้นก็ไม่ใช่ดุลยพินิจของคนๆ เดียว แต่ต้องเป็นมติของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบพนักงานป.ป.ช.อยู่แล้ว
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. มองว่า กรรมาธิการทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย ควรไปหารือกันนอกรอบเป็นการภายในก่อนดีกว่าว่าจะถอนมาตราดังกล่าวออกไปก่อนหรือไม่
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ถ้าหน่วยงานอื่นต้องการอำนาจเช่นเดียวกับป.ป.ช.และมาขอสภาฯ โดยอ้างว่าเพื่อให้ตัวเองทำงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ ถามว่าจะปฏิเสธได้หรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหัวใจสำคัญของความขัดแย้งคือสังคมไม่เชื่อใจกันและหวาดระแวง ประเทศชาติจะอยู่ได้ ขณะนี้เรากำลังจะเติมเชื้อไฟความไม่ไว้ใจกันอีกครั้งหรือไม่ เพราะมาตรา 37/1 คือการให้อำนาจคนเพียงคนเดียวละเมิดสิทธิใครก็ได้ จะทำให้เกิดการทุจริตแบบซับซ้อน อำนาจอยู่ที่ใครแล้วปราศจากการถ่วงดุลก็จะกลายเป็นทำทุจริตเสียเอง
ขณะที่พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงภายหลังการหารือนอกรอบเป็นการภายในระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมากและกรรมาธิการเสียงข้างน้อย นานกว่า 15 นาทีว่า การดักฟังถือเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็น แต่กรรมาธิการฯ ไม่ต้องการให้สภาฯ เสียเวลากับปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเห็นว่าขณะนี้เวลายังไม่เหมาะสม แม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นก็ตาม แต่เมื่อมีข้อกังวลว่าอาจจะเกิดผลกระทบในวงกว้างได้ ไม่อยากให้บานปลายออกไป ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ จึงเห็นควรให้ถอนมาตรา 37/1 รวมถึงมาตรา 37/2 และมาตรา 37/3 ออกไปก่อน นอกจากนี้ เมื่อถอนมาตราดังกล่าวออกไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญอยู่ในคำปรารภ ดังนั้น ขอให้ตัดตรงนี้ออกไปด้วย เพื่อที่สมาชิกสนช.จะได้สบายใจว่าไม่มีอะไรที่ยังหลงเหลืออยู่อีกต่อไป
แฟ้มภาพ