การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านประกันภัย เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก ตามโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) และบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด(มหาชน) นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมีการนำเทคโนโลยีติดตามการเดินรถระบบ GPS Tracking ภายใต้โครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” รวมถึงรถแท็กซี่ตามโครงการ TAXI OK และ TAXI VIP หนึ่งในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ด้วยระบบติดตามรถ Online แบบ Real-time โดยเน้นมาตรการในเชิงป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุ การบันทึกประวัติการเดินรถเพื่อประกอบการพิจารณา กำหนดมาตรการความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากการนำข้อมูลการเดินรถมาใช้ประโยชน์เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยแล้ว ผู้ประกอบการขนส่งยังสามารถนำข้อมูลเป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการ ทั้งด้านการใช้พลังงาน ต้นทุนการเดินรถ รวมทั้งการคำนวนต้นทุนโลจิสติกส์ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขอบคุณภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวม
ด้านนายกฤษณ์ หิญชีรนันทน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางถนนมาต่อเนื่อง มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน บรรเทาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการให้บริการด้านประกันภัย ดังนั้น เมื่อทางกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านประกันภัย เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการตามโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS “ ในครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างมาก และมีความยินดีอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นจากหลายภาคส่วน และเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการนี้ทางบริษัทฯ ได้จัดทำเบี้ยประกันในราคาพิเศษ เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือติดตั้งระบบ GPS อีกด้วย
ส่วนนายชาติชาย ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทฯ เห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศ สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมช่วยกันผลักดัน เสริมสร้างมาตรฐาน เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาว
นายโสภณ โพธิ์ศรี หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลและติดตามการเดินรถ ศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ขับขี่จะต้องรูดบัตรประจำตัวเพื่อยืนยันตัวตนให้ตรงกับประเภทรถที่ขับขี่ก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยจะมีการตรวจชั่วโมงการขับขี่ตามเวลาที่กำหนด และการจำกัดความเร็วไม่เกิน 90กม./ชม. หากฝ่าฝืนจะมีการแจ้งเตือนขับขี่เร็วเกินกำหนด ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายต่อไป และส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการ
วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผสข.