การพัฒนารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ในวันนี้ มีพิธีลงนามความร่วมมือ “การสาธิตและประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้านำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ (กฟผ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยรพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. ระบุว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตและการใช้รถโดยสารไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดลองนำร่อง สาธิต และประเมินผลการใช้งาน เพื่อพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมจธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ของประเทศเกาหลีใต้ ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม พัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตให้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยผลการศึกษาจากโครงการนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อให้ภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคตด้วย
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ขสมก. ระบุว่า เบื้องต้น ขสมก. นำรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท เอดิสัน มอเตอร์ส จำกัด จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ใน 5 เส้นทางเดินรถ ของขสมก. ในพื้นที่เขตการเดินรถที่ 5 อาทิ สาย 140, 76, 20 สลับหมุนเวียนกันไป และจะเริ่มทดลองในเดือนมิถุนายน 2561 ระยะเวลาทดลอง 1 ปี โดยเส้นทางการเดินรถ จะขับขึ้นสะพานพระราม 9 ซึ่งมีความสูงชัน ต้องใช้แรงขับเคลื่อนสูง โดยรถจะสามารถรับน้ำหนักทั้งนั่งและยืนได้มากกว่า 50 คน และสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนในระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร ขณะที่กฟผ. จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่อู่ ขสมก. แสมดำ
ส่วนความคืบหน้าการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 35 คัน ขณะนี้ขสมก. อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผน เพื่อให้กระทรวงคมนาคมนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งข้อมูลการทดลองเดินรถครั้งนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจจัดซื้อด้วย
ด้านนายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. สนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้านำร่อง แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาทดสอบ และจะเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน ประเมินประสิทธิภาพการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในสภาพการใช้งานจริงในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสู่แนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ กฟผ. มีนโยบายจะมียานยนต์ไฟฟ้า ในศูนย์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานใหญ่ เพื่อให้บริการประชาชนที่มายี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และโรงไฟฟ้าอีกด้วย
ปภาดา พูลสุข ผสข.