เอเอฟพีรายงานอ้างองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน(อาร์เอสเอฟ)ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศสว่า มีนักข่าวและคนงานในองค์กรสื่อทั่วโลกเสียชีวิต 65 ศพในปีนี้ ในจำนวนนี้ รวมถึงนักข่าว 50 ศพ ที่เหลือเป็นคนงานในองค์กรสื่อ นับเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 14 ปี แต่แนวโน้มการเสียชีวิตที่ลดลงดังกล่าวมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่นักข่าวยุติการเข้าไปทำข่าวในพื้นเสี่ยงอันตรายมากที่สุดในโลก เช่น ซีเรีย อิรัก เยเมนและลิเบีย
สำหรับประเทศที่มีนักข่าวเสียชีวิตมากที่สุดคือซีเรีย มีนักข่าวเสียชีวิตในปีนี้รวม 12 ศพ อันดับสองคือเม็กซิโก มีนักข่าวถูกลอบสังหารเสียชีวิต 11 ศพ ส่วนอันดับ 3 คือ ฟิลิปปินส์ มีนักข่าวเสียชีวิต 5 ศพเมื่อปีที่แล้ว สำหรับในเม็กซิโก อาร์เอสเอฟตั้งข้อสังเกตว่าเม็กซิโกไม่ใช่เป็นประเทศที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเนื่องจากสงคราม แต่นักข่าวที่ตีแผ่ความจริงให้สาธารณชนทราบเรื่องการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองหรือแก๊งอาชญากรต่างๆมักจะถูกข่มขู่คุกคามและถูกลอบสังหารมาโดยตลอด ส่วนฟิลิปปินส์ อาร์เอสเอฟตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขนักข่าวในฟิลิปปินส์เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลังประธานาธิบดี โรดิโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์แสดงความเห็นเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนในทำนองเตือนนักข่าวว่า ไม่ใช่ทำหน้าที่นักข่าวแล้วพวกคุณจะไม่ถูกปองร้ายเสมอไป
อาร์เอสเอฟตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านั้นไม่มีนักข่าวฟิลิปปินส์ถูกลอบฆ่าตายแม้แต่รายเดียวในปี 2558 ส่วนประเทศที่จำคุกนักเขียนบทความทางเว็บไซต์หรือบล็กเกอร์มากที่สุดคือประเทศจีน จำคุกบล็อเกอร์รวม 52 คน รองลงมาคือตุรกีจำคุกนักข่าวและคนในองค์กรสื่อ 43 คน อันดับสามคือซีเรียจำคุกนักข่าว 24 คน อิหร่าน 23 คนและเวียดนามจำคุกนักข่าว 19 คน