ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมากลุ่มหนึ่งเริ่มรณรงค์การสวมเสื้อยืดคอกลมสีดำ เพื่อประท้วงทางการเมียนมาที่คุมขังนายว้า โลน วัย 31 ปี และนายจ่อ โซ ออ วัย 27 ปี 2 ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์สในสถานที่ไม่เปิดเผย หลังถูกเชิญตัวไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อร่วมรับประทานอาหารค่ำชานกรุงย่างกุ้ง ทางตอนเหนือ เมื่อวันอังคาร กรณีรายงานข่าวความรุนแรงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา ซึ่งจุดชนวนให้ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ราว 655,000 คนหลบหนีความรุนแรงข้ามพรมแดนเข้าไปยังบังกลาเทศตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม โดยคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าวเมียนมาออกถ้อยแถลงผ่านหน้าเฟซบุ๊กระบุว่า การรณรงค์ของสมาชิกมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นยุคมืดของเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมา และวิพากษ์วิจารณ์การจับกุมที่ไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ โดยต้องการให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวทั้งสองคนโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้ผู้สื่อข่าวทั่วโลกแสดงความมีส่วนร่วมในการรณรงค์ และวางแผนจัดการประท้วงอย่างเป็นทางการ
หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ร่วมการรณรงค์เปิดเผยว่า ผู้สื่อข่าวต้องมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและรายงานข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ แต่รอง ผอ.กระทรวงข่าวสารของเมียนมาตอบโต้ว่า การจับกุมไม่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชน แต่เกี่ยวข้องกับความลับของทางราชการ ผู้สื่อข่าวควรแยกแยะว่าอะไรเป็นความลับหรือไม่เป็นความลับ เมียนมาให้เสรีภาพสื่อในการรายงานแล้ว หากแต่ผู้สื่อข่าวก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย ส่วนการรณรงค์เชิญชวนแต่งชุดดำ ก็ถือว่าทุกคนสามารถแสดงออกความรู้สึกได้ ทั้งนี้ กรณีทางการเมียนมาควบคุมตัวผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สไปยังสถานที่ไม่เปิดเผยจนกว่าการสอบสวนในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ อันมีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปีจะแล้วเสร็จนั้น เพิ่มกระแสดกดดันให้ทางการเมียนมามากขึ้นกรณีเกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญา โดยนานาชาติได้รุมกดดันให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวทั้งสองคน นับตั้งแต่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ประธานรัฐสภายุโรป นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตามด้วย รมต.ต่างประเทศของสวีเดน สหราชอาณาจักร แคนาดา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ตลอดจนถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศทั้งในเมียนมาและในไทย โดยนอกจากร้องขอให้ปล่อยตัว ยังระบุว่า การใช้เครื่องมือทางกฎหมายกำลังข่มขู่ไปถึงผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ด้วย และเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างแท้จริง
…
(0740 F171)