การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 วันนี้แล้ว ทีมที่ปรึกษาจะลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นจะเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค.2561เพื่อจัดทำรายงาน วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (สผ.) และส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยใช้เวลา 6 เดือนจากนั้นส่งต่อกระทรวงคมนาคม เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส่วนโครงการการก่อสร้าง กระทรวงคมนาคม จะเสนอไปยังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อบรรจุโครงการในแผนแม่บท ส่วนรูปแบบการลงทุนซึ่งเป็นในลักษณะร่วมทุนเสนอให้กับคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)และเสนอคณะรัฐมนตรี หากได้รับการอนุมัติผู้รับจ้างโครงการจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างให้เสร็จ พร้อมทั้งโครงการ ในปี 2564
ขณะที่ การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง นายศราวุธ เกียรติพาณิชย์ วิศวกรที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยทั้งโครงการมีระยะทางทั้งสิ้น 30 กิโลเมตร รวม 23 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดรถ 1 แห่ง รองรับรถยนต์ได้ 3,000 คัน โดยเป็นโครงการสายรอง เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายหลัก 4 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน บริเวณแยกลาดพร้าว รถไฟฟ้าสายสีส้มบริเวณถนนศรีนครินทร์ รถไฟฟ้า สายสีเขียว บริเวณสถานีสำโรง และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport rail Link) บริเวณสถานีหัวหมาก ซึ่งหากดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งโครงการ จะเป็นทางเลือกด้านการเดินทางให้กับประชาชน ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น
ขณะที่ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในวันนี้ ได้มีการเสนอขอขยายความกว้างของฟุตบาทบริเวณสถานีส่วนต่อขยายโครงการสำหรับรถเข็นวีลแชร์ รวมถึงเสนอให้ใช้วิธีล้อมต้นไม้ เพื่อย้ายต้นไม้ขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ก่อสร้างแทนการตัดทิ้ง นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้พิจารณาการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นระยะทางสั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีส่วนต่อขยายโครงการ แต่ใช้การขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อขนถ่ายผู้โดยสารจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว มายังแยกรัชโยธิน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนี้จะถูกรวบรวมเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม