การตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ที่กรมการขนส่งทางบก นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก ได้ให้รถสาธารณะทุกคัน ติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตามดูพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนขับรถ ปัจจุบันมีรถอยู่ในระบบ จำนวน 246,567 คัน และเมื่อรถสาธารณะทุกคันได้เข้าระบบแล้ว จะเป็นหลักประกันต่อผู้บริโภคได้ว่า การใช้รถสาธารณะเป็นไปด้วยความปลอดภัยและสามารถติดตามแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ กรณีรถที่ยังอยู่นอกระบบแล้วให้บริการประชาชน เช่น UBER เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนการแก้กฎหมาย จะต้องดูอีกครั้งถึงความจำเป็น หากมีความจำเป็นก็จะต้องแก้ ส่วนในกรณีที่ UBER ร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่เปิดให้บริการ โดยนำแท็กซี่ในระบบมาให้บริการแบบ UBER ถือเป็นเรื่องที่ดี แสดงให้เห็นแนวคิดระบบใหม่กับระบบเก่าประสานกันได้ โดยจะต้องมองว่าผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างไร ซึ่งไม่ว่าระบบใด จะต้องได้รับการบริการที่ดีที่สุด
ส่วนการยกเลิกเครื่องชำระค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Cash box) บนรถโดยสารสาธารณะหากไม่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 200 คัน จาก 2,600 คัน นายไพรินทร์ กล่าวว่า ขอศึกษารายละเอียดและแก้ไขระยะหนึ่ง จึงจะสามารถบอกได้ว่าจะยกเลิกหรือไม่ เนื่องจากแนวคิดนี้เป็นความคิดที่ดี แต่ในประเทศไทยการดำเนินการอาจมีข้อจำกัดและความจำเป็นเฉพาะ ทั้ง ระบบรถ และปัญหาอื่นๆ ซึ่งจะให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) พิจารณาและนำเสนอเรื่องขึ้นมาอีกครั้ง
กรณีการทบทวนแผนยกเลิกรถร่วมโดยสารประจำทาง ขสมก. เนื่องจากปัญหาร้องเรียนเรื่องการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานหลายพันคน รวมถึงรถร่วมโดยสารประจำทาง ขสมก. เตรียมนำรถเมล์ปรับอากาศระบบดีเซล หรือรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 2,000 คัน มาวิ่งให้บริการแทนรถร้อน โดยจะคิดค่าโดยสารเที่ยวละ 20 บาท หรือแบบเหมาจ่าย ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว วันละ 40 บาท นายไพรินทร์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการหารือทั้ง 2 เรื่องนี้ เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงประชาชนผู้บริโภค ให้ได้รับการบริการที่ดีที่สุดในค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม