ผลวิจัย พบการซื้อขายอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

11 ธันวาคม 2560, 15:16น.


ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างนางออดี ฟลัวแรนท์ ผอ.โครงการวิจัยเรื่องจัดซื้ออาวุธและการใช้จ่ายด้านการทหาร สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ)สวีเดนว่า การซื้อขายอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีในปี 2559 หลังสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมของประเทศเพิ่มขึ้น ตัวเลขยอดขายอาวุธของผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ของโลกจำนวน 100 แห่งในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปี 2558 รวมมูลค่า 374,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



นอกจากนั้น ตัวเลขซื้อขายอาวุธสูงขึ้น เนื่องจาก การจัดทำโครงการอาวุธใหม่ๆระดับชาติของหลายประเทศที่มีปัญหาด้านความมั่นคง การปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้และความตึงเครียดระดับภูมิภาคที่ยืดเยื้อมานาน โดยเฉพาะปัญหาพิพาทบนคาบสมุทรเกาหลีและปัญหาอาณาเขตพิพาทในทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีการจัดซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น



รายงานตั้งข้อสังเกตว่าผู้ค้าอาวุธของเกาหลีใต้ จัดหาอาวุธให้กับกองทัพเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนการขายอาวุธในปีที่แล้วเพิ่มมากที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว แสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ หวั่นวิตกว่าอาจเกิดเหตุปะทะกับเกาหลีเหนือได้ในอนาคต โดยตัวเลขการขายอาวุธของบริษัทผลิตอาวุธของเกาหลีใต้ในปี 2559 เพิ่มจากปี 2558 กว่าร้อยละ 20 มาอยู่ที่ 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



ส่วนบริษัทค้าอาวุธของสหรัฐฯยังคงรั้งอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้เมื่อปีที่แล้ว มียอดขายเพิ่มร้อยละ 4 เป็น 217,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58 ของยอดขายอาวุธทั่วโลก เอสไอพีอาร์ไอ คาดว่า ตัวเลขการซื้อขายอาวุธของสหรัฐฯจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯต้องการจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและเสริมสมรรถนะอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯให้มากขึ้น



ขณะเดียวกัน การขายอาวุธของบริษัทค้าอาวุธรัสเซียเมื่อปีที่แล้วเพิ่มร้อยละ 3.8 อยู่ที่ 26,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าเติบโตไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวเลขการซื้อขายอาวุธในช่วง 2-3 ปี ที่สำคัญคือรัสเซียได้เพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของกำลังพลในกองทัพให้สูงขึ้น แต่การจัดซื้ออาวุธเริ่มลดลงในช่วงหลังๆ เนื่องจาก ปัญหาด้านงบประมาณหลังราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติร่วงลงต่อเนื่อง



ทีมต่างประเทศ



CR:money.cnn.com.



 

ข่าวทั้งหมด

X