ประธานาธิบดีเรเซ็ป เทย์ยิป เออร์โดกัน ซึ่งเป็นผู้นำตุรกีคนแรกในรอบ 65 ปีที่เดินทางเยือนกรีซ เริ่มต้นการเดินทางเยือนเป็นเวลา 2 วันด้วยความตึงเครียดเนื่องจากเขาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโปรโคกิส ปาฟโลปูลอสแห่งกรีซ ทบทวนข้อตกลงโลซานซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยชายแดนระหว่าง 2 ประเทศที่มีการลงนามมาตั้งแต่ปี 2466 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นไม่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ประธานาธิบดีกรีซปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่สามารถนำมาเจรจาต่อรองกันได้
ทั้งตุรกีและกรีซต่างก็เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ แต่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่ดีมานานหลายสิบปี โดยมีข้อพิพาทดินแดนเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยในปี 2517 เป็นกรณีของเกาะไซปรัส ซึ่งตุรกีเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดครองพื้นที่ทางเหนือของเกาะซึ่งกรีซก็ใช้กำลังทหารยึดพื้นที่กลับมา จากนั้นก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นประปรายจนมาถึงปี 2539 เป็นกรณีของเกาะอีเจี้ยนซึ่งแม้ว่าจะไม่มีผู้พักอาศัยแต่ความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นการปะทะกันทางทหาร นอกจากนี้แล้วประธานาธิบดีตุรกียังมักแสดงความเห็นว่ามุสลิมทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรีซไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ มาจนถึงกรณีที่ตุรกีต้องการให้กรีซส่งตัวนายทหาร 8 นายที่เป็นผู้ต้องหาในคดีพยายามรัฐประหารเมื่อปีก่อน แต่ในเวลาเดียวกันกรีซก็มีการร้องเรียนว่าตุรกีรุกล้ำเข้ามาในเขตน่านฟ้าและทะเลของกรีซหลายครั้ง