วุฒิสภาสหรัฐซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก มีมติด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 49 ผ่านร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่ซึ่งมีสาระสำคัญคือการลดภาษีให้แก่กลุ่มธุรกิจและบุคคลที่มีรายได้สูง ซึ่งนับเป็นการแก้ไขกฎหมายระบบภาษีครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2529 และยังเป็นการพิจารณาที่รวดเร็วมากเพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เพิ่งผ่านความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการผ่านร่างกฎหมายให้ได้ก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งยังทำให้ฝ่ายเดโมแครตเห็นว่านี่คือของขวัญของรีพับลิกันเก็บมาจากประชาชนผู้มีรายได้น้อยไปมอบให้เศรษฐีและกลุ่มธุรกิจที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล
นอกจากนี้แล้วรัฐบาลสหรัฐฯยังถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (Global Compact on Migration) ซึ่งเป็นมาตรการรองรับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ โดยนางนิคกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ได้แจ้งเรื่องต่อนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแล้ว แต่จะให้การสนับสนุนการโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนตัวออกจากข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งทำไว้ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดโลกร้อน และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก
เกาหลีเหนือจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสคิม อิล ซุง ใจกลางกรุงเปียงยาง เพื่อแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป ไอซีบีเอ็มฮวาซอง-15 ซึ่งมีความสามารถโจมตีเป้าหมายสหรัฐฯได้ทุกพื้นที่ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศว่าเกาหลีเหนือคือรัฐนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในงานเฉลิมฉลองมีผู้นำเหล่าทัพและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคแรงงานเข้าร่วมงาน แต่นายคิมไม่ได้เข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เขาจะไม่ออกงานในลักษณะนี้
ส่วนกรณีที่กองทัพอากาศสหรัฐฯและเกาหลีใต้ประกาศซ้อมรบทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุด 5 วัน โดยใช้ชื่อการซ้อมรบว่าวิจจิเลนท์ เอซ ซึ่งจะมีเครื่องบินรบของทั้ง 2 ชาติร่วมในการซ้อมรบราว 230 ลำ รวมถึงเครื่อบินขับไล่สเตลท์เอฟ-22 แรปเตอร์ โดยจะเริ่มซ้อมรบในวันนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ออกแถลงการณ์ประณามการซ้อมรบ และเห็นว่าเป็นการยั่วยุอย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่โง่เขลาและเท่ากับเป็นการเร่งให้เกิดการทำลายล้างทั้ง 2 ชาติ
ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเขาอาจมีการกระทำบางอย่างที่เข้าข่ายขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สามารถใช้ในการกล่าวโทษเพื่อปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ จากการที่เขาทวิตข้อความว่า การที่เขาไล่พลโทไมเคิล ฟลินน์ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เพราะพลโทฟลินน์โกหกรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอซึ่งในเวลานั้นนายเจมส์ โคมีย์ เป็นผู้อำนวยการและกำลังสอบสวนกรณีพลโทฟลินน์ติดต่อกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน แต่ต่อมาเขาทวิตปฏิเสธว่า ไม่ได้ขอร้องให้ นายโคมีย์ยุติการสอบสวนพลโทฟลินน์ ตามที่นาย
โคมีย์ให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาว่า หลังจากที่เขาปลดพลโทฟลินน์แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขอให้เขายุติการสอบสวนพลโทฟลินน์ ทั้งนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ทวิตข้อความว่าไม่เคยขอร้องให้นายโคมีย์ยุติการสอบสวนพลโทฟลินน์ และนี่คือข่าวปลอมอีกชิ้นหนึ่งเพื่อปิดบังการโกหกของนายโคมีย์
โดยเมื่อวันศุกร์ พลโทฟลินน์รับสารภาพว่าเขาโกหกเอฟบีไอ และให้สัญญาที่จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษ
ทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สั่งเนรเทศนายอาห์เหม็ด ชาฟิค อดีตนายกรัฐมนตรีอียิปต์ออกนอกประเทศ และเขาเดินทางกลับมาถึงกรุงไคโร เมื่อเย็นวันเสาร์ ทั้งนี้นายชาฟิคและครอบครัวขอลี้ภัยอยู่ในยูเออีมาตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อวันพุธของสัปดาห์ก่อนเขาประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอียิปต์ที่จะมีขึ้นในปีหน้า และอ้างว่าถูกยูเออีห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ทางการยูเออีไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงเนรเทศเขากลับไปอียิปต์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงชี้แจงระหว่างเสด็จกลับนครวาติกัน หลังเสร็จภารกิจเยือนเมียนมาและบังกลาเทศเป็นเวลา 4 วัน โดยยืนยันว่าแม้จะเลี่ยงการเอ่ยถ้อยคำโรฮิงญา แต่พระองค์ส่งสารชัดเจนถึงผู้นำเมียนมาอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องเคารพสิทธิ์ของผู้ลี้ภัย ทั้งนี้พระองค์ตระหนักดีว่า หากทรงใช้คำนี้ก็คงถูกปฏิเสธการพูดคุยกันต่อไป จึงเปลี่ยนมาใช้การบรรยายถึงสถานการณ์และสิทธิ์ โดยกล่าวว่าไม่ควรมีผู้ใดถูกกีดกัน (สิทธิ์) ความเป็นพลเมือง นอกจากนี้ยังทรงได้รับคำแนะนำว่า การใช้ถ้อยคำโรฮิงญาอาจก่อกระแสต่อต้านชาวคริสต์และชนกลุ่มน้อยในเมียนมา แต่การเยือนบังกลาเทศหลังจากนั้น พระองค์ใช้คำนี้อย่างน้อย 1 ครั้งระหว่างการพบกับกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ซึ่พระองค์รู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้พบและสนทนากับชาวโรฮิงญาเหล่านี้
ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน-6 ธันวาคมนี้ ที่ประชุมมีความตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับความจำเป็นในการแสวงหามาตรการเชิงปฏิบัติที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับวิกฤตขยะพลาสติก ที่กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกในเวลานี้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดไปสู่ท้องทะเล ที่จะทำให้กลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่อยู่กลางมหาสมุทรโดยมีข้อเสนอให้กำจัดขยะพลาสติกจากชายหาด โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้ขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นศูนย์ ชาติสมาชิกดำเนินการเพื่อบรรลุให้เป้าหมายตามความสมัครใจ
นายอีริค ลินด์เบิร์ก นักวิชาการจากกองทุนชีวิตสัตว์ป่าโลก (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ระบุว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยความตกลงในระดับโลก เพราะมีปริมาณมหาศาล ก่ออันตรายและไม่จำกัดอยู่ในเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง และเขาหวังว่า การประชุมที่ไนโรบีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับมือกับปัญหานี้
....