หลังการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชั่วคราว หรือวิป สนช.เพื่อพิจารณา กำหนดหลักเกณฑ์และให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ หรือไม่ต้องอยู่ในที่ประชุม ทั้งนี้ ประธาน และรองประธานสนช.สามารถใช้เอกสิทธิ์ออกเสียงหรือไม่ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ส่วนขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ จะเริ่มจากการเสนอชื่อ โดยให้สมาชิกเสนอบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 โดยการรับรองจะมีวิธีการแตกต่างกับส.ส.และส.ว. เพราะจะใช้วิธีโหวตโดยใช้เครื่องออกเสียงแทนการยกมือรับรอง เพื่อป้องกันการโหวตซ้ำ จากนั้นเมื่อได้ชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เลขาธิการวุฒิสภาจะขานชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรเพื่อลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมี 2 กรณี คือ หากมีผู้ถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว จะมีการขานชื่อเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ในกรณีที่มีผู้ถูกเสนอชื่อมากกว่า 1 คน จะให้สมาชิกขานชื่อบุคคลที่จะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ ได้รับคะแนนไม่น้อยกว่า 99 คะแนน จากจำนวนสมาชิก 197 คน
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. กล่าวถึงการที่หลายฝ่ายกังวล ว่าหาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะแสดงถึงความไม่ชอบธรรม เพราะพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคสช. นายสมชาย มองว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะหากหัวหน้าคสช.ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถแต่งตั้งตนเองได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.
ที่ประชุมวิปสนช. ได้จัดลำดับร่างกฎหมายเร่งด่วนที่ผ่านความเห็นชอบจากคสช. โดยจะนำร่างพ.ร.บ. 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ....,พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ พ.ศ...,ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับ…) พ.ศ…,ร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ...,ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการกำหนดอัตราศุลากากร/และร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิ์บำเหน็จบำนาญ เข้าที่ประชุมวิปสนช.ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบความสำคัญของพ.ร.บ.แต่ละฉบับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง