วันที่สองของการติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ของนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแหน่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกกปลาซิว อำเภอภูพาน เพื่อรับฟังการรายงานสถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำ และรับฟังปัญหาของประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำ
หลังจากนั้นองคมนตรี ได้ปล่อยพันธุ์ปลานิล จำนวน 100,000 ตัว และปลากดเหลือง จำนวน 10,000 ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำห้วยแหน่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทั้งนี้ นายชูชาติ รักษ์จิตร ผู้อำนวยการกรมชลประทานที่ 5 ได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยแหน่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแหน่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ให้ปรับปรุงเพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงป้องกันการพังทลาย โดยเป็น 1 ใน 22 อ่างเก็บน้ำ ที่มีพระราชกระแสรับสั่งปรับปรุง ซึ่งช่วงฤดูฝน มีปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำไหลท่วมทำนบกั้นน้ำ สูง 30 ซม. ส่งผลกระทบกับบ้านเรือน และพื้นที่เกษตรของประชาชน เป็นระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ซึ่งมีความเสี่ยงจะต้องปรับปรุงเพื่อความมั่นคง ประกอบด้วย 2 แนวทางคือ ขยายขนาดอาคารระบายน้ำล้นให้ใหญ่ขึ้น พร้อมทำประตูระบายน้ำสำหรับเปิดปิดได้ และเสริมทำนบดินประมาณ 1เมตร เพื่อป้องกันการไหลข้ามทำนบดิน อย่างไรก็ตาม การเสริมทำนบกั้นน้ำนี้ จะไม่ทำให้ความจุในการกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับพื้นที่อุทยาน นอกจากนี้จะพิจารณาปรับปรุงเรื่องท่อส่งน้ำ และการขยายพื้นที่เกษตรอีก 50 ไร่ ตามที่ชาวบ้านได้ร้องขอมาด้วย
นางยุพา ไชยการ เกษตรกรผู้ใช้น้ำ เล่าว่า หลังมีอ่างเก็บน้ำห้วยแหน่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถทำนา ปลูกผักได้ จากแต่ก่อนที่ลำบากมากทำการเกษตรต้องรอน้ำจากฝนตกลงมาเท่านั้น ส่วนน้ำดื่มก็ต้องซื้อกิน ส่วนฤดูแล้งต้องหาเก็บผักไปขาย หารายได้เข้าครอบครัว แต่เมื่อมีอ่างเก็บน้ำเข้ามา ก็สามารถเพาะปลูกผักเองไปขายได้
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม