ปธ.โครงข่ายช่วยเหลือรพ. แนะภาครัฐแบ่งแยกคนจน-คนพอมี แก้ปัญหารพ.ขาดแคลน

21 พฤศจิกายน 2560, 15:32น.


หลังโรงพยาบาลรัฐเกิดภาวะหนี้สิน และขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ นายเอนก จงเสถียร ประธานโครงการช่วยเหลือโรงพยาบาล 42 แห่ง กล่าวว่ารับรู้ปัญหาของแพทย์ พยาบาล มาตลอด แพทย์บางคนต้องเสียสละเงินเดือนของตัวเองมาใช้จ่ายในโรงพยาบาลขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ทางรัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลสถานพยาบาลต้องยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยดำเนินนโยบายการรักษาพยาบาลผิดทางมาตลอด หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 5 ปี คาดว่าโรงพยาบาลจะถึงคราวล่มสลายจากภาวะหนี้สิน จึงอยากฝากให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายการรักษาพยาบาลใหม่ โดยให้แบ่งแยกระหว่างคนจนกับคนที่พอมีความสามารถในการจ่ายค่ายาได้เอง เพราะเท่าที่ทราบ บางครั้งผู้ที่มีเงิน ไปรักษาโรงพยาบาลรัฐบาลแล้วไม่กินยาที่โรงพยาบาลจ่ายให้ แต่กลับไปซื้อยานอกมารับประทานเอง แล้วนำยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลไปทิ้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ รัฐบาลจึงควรแบ่งแยกผู้ป่วยให้ชัดเจน ส่วนคนรวย มักจะรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว ตรงส่วนนั้นจึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง



ด้านศ.นพ. รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริการ เปิดเผยว่า แม้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีตึกจำนวนมาก มีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย แต่ทางโรงพยาบาลยังมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย เนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีคนไข้ OPD กว่า 1 ล้านคนต่อปี เฉลี่ยแล้วมีผู้เข้ารับการรักษาช่วงกลางวัน วันละประมาณ 4,000 คน ขณะที่มีผู้เข้ารับการรักษาคลินิกนอกเวลาราชการ วันละประมาณ 800-1,000 คน ทางโรงพยาบาลจึงไม่สามารถให้บริการได้ทั้งหมด จำเป็นต้องแบ่งแยกผู้ป่วยเป็นกรณีไป ส่วนใหญ่จะรับรักษาผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนสูง จึงอยากทำความเข้าใจว่าโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เองก็มีความขาดแคลนเช่นเดียวกัน 

ข่าวทั้งหมด

X