ข้อเรียกร้องจากแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางเนื่องจากกรณียางพารามีราคาตกต่ำ นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายยางพารา ได้แก่ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ชาวสวนยางชายขอบ อันประกอบด้วย ชาวสวนยางรายย่อย คนกรีดยาง และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ได้เดินทางมาที่บริเวณ ประตู 4 เพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างผิดปกติในขณะนี้
นายสุนทร กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่า สาเหตุที่สำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบของโลกถูกลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ผลผลิตยางของไทยเพิ่มขึ้น การใช้ยางในประเทศน้อยลงเมื่อเทียบกับผลผลิต และประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งมองว่านายกรัฐมนตรีต้องไม่ฟังข้อมูลวิชาการจากข้าราชการที่ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำเกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การทุบราคายางโดยพ่อค้า นำไปสู่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าและบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยทบทวนการทำงานและแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่จะให้ลดพื้นที่ปลูกยางในภาคเหนือ ด้วยเหตุผลทางด้านวิชาการที่ผลผลิตน้อยก็เป็นการมองมิติเดียว เพราะการทำสวนยางในภาคเหนือช่วยลดปัญหาไฟป่า หากปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อให้เป็นป่ายางในรูปแบบวนเกษตร ก็จะช่วยลดการพังทลายของดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าการทำไร่ข้าวโพด ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าเอื้อนายทุนหากมีข้อครหาว่าโค่นยางเพื่อปลูกข้าวโพด โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกร ชาวสวนยางพารา คือขอให้ กยท.แก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถจดทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ รวมถึงให้จัดสวัสดิการให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางในรูปแบบสังคมสวัสดิการ โดยระยะเร่งด่วนให้จ่ายเงินแก่คนกรีดยาง รายละ 3,000 บาท เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือในช่วงที่ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
นอกจากนี้ ยังขอให้แก้ไขระเบียบให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถปลูกพืชเชิงเดี่ยวร่วมกับยางเพื่อทำเกษตรผสมผสาน ลดจำนวนต้นยางให้เหลือ 40 ต้นต่อไร่ พร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยการโค่นต้นยาง ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง โดยอาจจ่ายค่าชดเชยครึ่งหนึ่งก็ได้
ขณะเดียวกันขอให้ กยท. ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุญาตให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขให้ลดต้นยางให้เหลือ 40 ต้นต่อไร่และปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ต้นต่อไร่ รวมถึงหากจะให้การแก้ไขวิกฤตยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 ต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วม พร้อมระบุว่าทางเครือข่ายจะไม่ขีดเส้นตาย ข้อเรียกร้องทั้งหมดแต่อยากฝากให้นายกรัฐมนตรีอย่าปล่อยวิกฤติยางพารากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนำปัญหานี้ไปคุยกับเกษตรกรชาวสวนยางพารา ในระหว่างการลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ในวันที่ 27-28 พ.ย.นีิ้
นายสุนทร ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างที่กำลังเดินทางมากรุงเทพฯ ก็ได้มีทหารเข้ามาขอกินน้ำชาด้วยถึง 2 ครั้ง ซึ่งทางตนเองก็ได้แจ้งความประสงค์อย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการมาพบนายกรัฐมนตรีเพียงแค่ 5 นาที กว่าจะเดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลก็ใช้เวลาพอสมควร พร้อมระบุด้วยว่าไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ แต่อยากให้นายกรัฐมนตรีทราบว่าชาวสวนยางภาคใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทหารได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งระวังอย่าให้วิกฤตยางพารากลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เมื่อถึงวันนั้น แม้แต่ทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่มีกฎหมายใดมากั้นได้เพราะชาวสวนยางพารายอมที่จะฝ่าฝืนกฎหมายแต่ไม่ยอมให้ลูกอดตาย
...
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี