อสส.มีมติรื้อ 2 คดี ทักษิณ ปล่อยกู้กรุงไทย/สัมปทานโทรคมนาคม พิจารณาลับหลังจำเลย

21 พฤศจิกายน 2560, 10:47น.


หลังออกพ.ร.บ. ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 โดยให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริตได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย 


โดยคดีที่นำมายื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก่อนที่จะมีการจำหน่ายออกไป มี 2 สำนวนคดี คือ สำนวนคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯกับกลุ่มกฤษดามหานคร และสำนวนคดีที่กล่าวหาทุจริตการออกกฎหมาย แปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม และมือถือ เป็นภาษีสรรพสามิตร ซึ่งขณะนี้ต้องรอศาลฯ พิจารณาว่าจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร หากศาลฯ มีคำสั่งให้นำคดีกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องมีการสืบพยานฝ่ายโจทย์และจำเลยต่อไป 


นายประยุทธ์ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า นายทักษิณ สามารถใช้สิทธิตั้งทนายความเข้าชี้แจง โต้แย้ง หรือต่อสู้คดีความได้ ก่อนที่ศาลจะมีการพิพากษา พร้อมกับยืนยันว่าหลังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ทางอัยการพบว่ามีคดีของนายทักษิณ 2 คดีดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่จะต้องดำเนินตามกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป และยืนยันว่าอัยการสูงสุดทำตามหน้าที่ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ


สำหรับการติดตามตัวนายทักษิณกลับมาดำเนินคดี นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า การติดตามตัวนายทักษิณ เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหากศาลฯ พิจารณาแล้วว่านายทักษิณ มีความผิด อาจจะต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายใหม่ คดีจะไม่มีการหมดอายุความ 


ส่วนการติดตามนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้นางสาวยิ่งลักษณ์หลบหนีไปอยู่ใด เมื่อทราบที่อยู่แน่ชัด จึงจะสามารถดำเนินการเพื่อส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ 


...


ผสข.ปภาดา พูลสุข
ข่าวทั้งหมด

X