หลังศาลฎีกายกคำร้องการขอรื้อฟื้นคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครูโรงเรียนบ้านม่วงไข่ประชาราษฎร์สงเคราะห์ จ.สกลนคร พ.ต.อ ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า คดีดังกล่าว นางจอมทรัพย์เคยเข้ามาร้องขอความเป็นธรรมที่กระทรวงยุติธรรมก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามารับผิดชอบศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากพ้นโทษและศาลมีคำสั่งรับรื้อฟื้นคดีอาญา ครูจอมทรัพย์จึงได้เข้ามาขอบคุณกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากในชั้นนั้นนายสับ วาปี เข้ารับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นผู้ขับรถชนคนตาย ตนจึงรับเรื่องมาดูแลต่อและขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเซ็นคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชุดเดิมกลับมาทำงานอีกครั้ง และมีการตรวจสอบเอกสารและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งพบว่าพยานยังไม่ได้ให้การผ่านเครื่องจับเท็จ จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวนนำตัวนายสับ วาปี และนายสุริยา นวลเจริญ หรือครูอ๋อง เพื่อนสนิทของครูจอมทรัพย์มาเข้าเครื่องจับเท็จผลปรากฏว่า บุคคลทั้ง 2 ไม่ผ่านเครื่องจับเท็จ บ่งชี้ว่าให้การไม่เป็นความจริงและอาจมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ
"ขณะนั้นได้หารือกับพล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น ที่ปรึกษาสบ. 10 ถึงประเด็นดังกล่าวและเชื่อว่ามีขบวนสร้างหลักฐานเท็จ รับจ้างติดคุกแทนซึ่งคดียังอยู่ในอายุความตำรวจสามารถดำเนินคดีได้ แต่ในส่วนของครูจอมทรัพย์ที่ให้ปากคำผ่านเครื่องจับเท็จนั้น เครื่องไม่สามารถอ่านแปลผลได้ เนื่องจากครูจอมทรัพย์มีสภาพร่างกายไม่ปกติ คือ บริเวณปลายนิ้วเหงื่อไม่ออก กราฟจึงไม่สามารถประมวลผลได้ กระทรวงยุติธรรมจึงตัดสินใจใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาช่วย โดยผลการตรวจสอบสภาพรถยนต์คันเกิดเหตุของครูจอมทรัพย์ ซึ่งผลตรวจบ่งชี้ว่ารถคันดังกล่าวไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อน แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาก็ต้องยอมรับในคำตัดสินของศาล อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจ จนมีการติดต่อให้ไปทอล์กโชว์คู่กับ พล.ต.อ.ปัญญาที่ช่องกรมประชาสัมพันธ์ และมีการตัดสินล่วงหน้าของศาลโซเซียลออกมาในหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่การตัดสินของ 3 ศาลตามกฎหมาย
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวอีกว่า คดีนี้ต้องแยกให้ชัดระหว่างการสร้างหลักฐานเท็จกับการร้องขอความยุติธรรม การสร้างหลักฐานเท็จเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความเป็นธรรม จนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม
ส่วนกระทรวงยุติธรรมจะทบทวนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อ้างตัวว่าตกเป็นแพะหรือไม่ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมต้องทบทวนในบทบาทหน้าที่ที่ทำลงไป เรามีหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในข้อกฎหมาย และถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมทุกส่วนที่ต้องช่วยเหลือประชาชนเพราะต่างได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วจะวัดกันที่การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ถ้าประชาชนยังเข้าไม่ถึงความยุติธรรมก็แสดงว่าประเทศยังล้าหลังอยู่