จากปัญหาการอุ้มบุญในลักษณะเชิงพาณิชย์ที่พบในปัจจุบัน ทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. จัดเวทีสาธารณะ เรื่อง อุ้มบุญอย่างไร ไม่กระทบสิทธิ เพื่อให้การคุ้มครองทั้งเด็กและสตรี
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พูดถึงรายละเอียดของร่าง พระราชบัญญัติ เทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธ์ ว่า การมีร่างกฏหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ถือเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึิ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่กฏหมายที่สมบูรณ์ที่สุด แต่อยากให้กฏหมายสามารถบังคับใช้ได้ ซึ่งหากมีประเด็นใดที่ยังไม่ครอบคลุมและต้องการเพิ่มเติม ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ จะต้องมีการเสนอพิจารณาเพิ่มเติมอยู่แล้ว
ด้าน นางสุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า แม้ว่าขณะนี้ร่างกฏหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางแพทยสภาจะมีการยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เพื่อพิจารณาแล้ว แต่การออกกฏหมายนั้น จะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเนื่องจากความไม่ชัดเจนในทางกฏหมายของประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังมีการลักลอบการทำอุ้มบุญเชิงพานิชย์ และยังมีการโต้เถียงกันในเรื่องการตั้งครรภ์แทนเชิงพันธสัญญา หรือ เชิงพานิชย์ ที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะใช้ร่างของตัวเองในการรับจ้างตั้งครรณ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า เป็นการเอาเปรียบผู้หญิง จึงต้องมีการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงที่รับอุ้มบุญ เพราะการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อผู้หญิง จึงอยากให้มีการทบทวนร่างกฏหมายให้ครอบคลุม
ศาตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประมวล วีรุตมเสน สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ บอกว่า ทุกคนล้วนมีสิทธิพื้นฐานเท่ากันหมด แต่จะมีกลุ่มคนที่อยากมีลูกแต่มีไม่ได้ เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์จึงเป็นทางออก แต่ก็ถูกจำกัดด้วย ประเพณี สังคม และวัฒนธรรม
ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะมีการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากเวทีสาธารณะในครั้งนี้ นำไปสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้ายการส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาการอุ้มบุญในประเทศไทย
..ผสข. สานนท์ เจริญพันธุ์