ผู้เชี่ยวชาญนิติวิทยาศาสตร์ไทย-ต่างชาติ ยึดความซื่อสัตย์ การตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

18 พฤศจิกายน 2560, 14:46น.


กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ดร.เฮนรี่  ซี ลี (Dr. Henry C. Lee) ผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ระดับโลก ระบุว่า กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ของไทยถือว่าดีและมีการพัฒนาแล้ว แต่ยังต้องเน้นย้ำ ให้ความสำคัญด้านกระบวนการตรวจลายนิ้วมือ DNA ต่างๆ ซึ่งจะต้องมีฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยการเสียชีวิตของคน จะมี 5 สาเหตุ คือ ฆ่าตัวตาย, มีคนฆ่าตาย, ตายเองโดยธรรมชาติ, อุบัติเหตุ และไม่สามารถบอกได้ โดยการทำคดีจะให้ความสำคัญกับที่เกิดเหตุและการเก็บหลักฐานครั้งแรกในที่เกิดเหตุ



สำหรับการทำคดีต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา มีหลายคดีที่พยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ผิดเพี้ยน ทำให้ผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ แต่เมื่อมีการสืบหาพยานหลักฐานใหม่ และพบว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด ก็ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งมีสาเหตุจากการทำคดีโดยไม่ยึดหลักกระบวนการประกอบกับมีประสบการณ์น้อย อย่างไรก็ตามผู้ที่จะมาเป็นนักนิติวิทยาศาสตร์ จะต้องมีการปลูกจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์เป็นอันดับแรก



ด้านพันตำรวจเอกอนุราช จิตศีล นักวิทยาศาสตร์ สบ. 4 กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังฟังบรรยายของดร. เฮนรี่ ได้ข้อคิดหลายอย่างในการนำไปใช้การทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความซื่อสัตย์ในการทำงาน ซึ่งขณะนี้มีหลายคดีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจว่าไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งในฐานะคนทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ สามารถยืนยันได้ว่า กระบวนการขั้นตอนของไทยสามารถรื้อฟื้น นำมาตรวจสอบได้ และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ใช้หลักวิชาการในการแสวงหาข้อเท็จจริง





 



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X