ปลัดทส. สั่ง สกว.ตรวจDNA ยืนยันสายพันธุ์ หนอนตัวแบนนิวกินี แจ้งกรมป่าไม้ สำรวจระบบนิเวศ

16 พฤศจิกายน 2560, 13:50น.


หลังพบหนอนสีดำลักษณะคล้ายหนอนตัวแบนนิวกินี ในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเป็นสัตว์ที่สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์จัดให้เป็น 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่น่ากลัวที่สุดของโลก หลังการประชุมเพื่อหาแนวทางจัดการหนอนตัวแบนนิวกินี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า จะต้องนำหนอนตัวแบนนิวกินี ตรวจ DNA เพื่อยืนยันชนิดพันธุ์ให้ชัดเจน แม้จะได้รับการยืนยันทางด้านสันฐานวิทยาหรือลักษณะภายนอกแล้วก็ตาม โดยสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว) จะเป็นผู้รับผิดชอบพร้อมทั้งเก็บข้อมูลการกระจายในประเทศไทยให้ครอบคลุมที่สุด ควบคุม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศ ศึกษาการเป็นพาหะของโรคการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจาย  วางแผนป้องกันไม่ให้มีการกระจายเข้าสู่เขตพื้นที่ป่า จัดทำชุดข้อมูลเพื่อให้ความรู้กับประชาชน วางแผนป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายสู่แหล่งอื่นอื่นๆหรือประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้า





ขณะที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงมีความกังวล เรื่องการป้องกันพื้นที่ธรรมชาติไม่ให้หนอนตัวแบนนิวกินีเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากหนอนตัวแบนนิวกีนี กินหอยทากท้องถิ่น ไส้เดือน สัตว์หน้าดิน เป็นอาหารซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ โดยแจ้งไปยังกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สำรวจในพื้นที่รับผิดชอบหากพบหนอนตัวแบนนิวกินีจะได้แก้ไขอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการถูกทำลายจากระบบนิเวศ  ยืนยันว่าประชาชนไม่ต้องตกใจ เนื่องจากจะไม่เป็นอันตรายโดยตรงกับมนุษย์ เพราะการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินีไม่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ได้แพร่กระจายไปยังทุกพื้นที่ และอาจเข้ามาในประเทศไทยหลายปีแล้ว ซึ่งเบื้องต้นหากประชาชนพบเห็น หรือไม่แน่ใจ ไม่ควรไปสัมผัสตัวหนอนโดยตรง ซึ่งสามารถถ่ายภาพแล้วส่งมาได้ที่ LINE @qbw4880w ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้ หรือวิธีจำกัดเบื้องต้นคือรวบรวมหนอนที่คาดว่าจะเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี ใส่กระป๋องราดด้วยน้ำร้อน ความร้อนประมาณ 70 องศาเซลเซียส และใส่เกลือเล็กน้อย ขณะที่ด้านสุขภาพอนามัย ก่อนการกินผักควรล้างให้สะอาดป้องกันการปนเปื้อน ทั้งนี้จะมีการศึกษาร่วมกับกรมควบคุมโรคถึงโอกาสการเป็นพาหะของหนอนตัวแบนนิวกินี





ส่วนการปรับสถานภาพของหนอนตัวแบนนิวกินีตามทะเบียนรายการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานของประเทศไทยจากรายการ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทยเป็นรายการ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วหรือรายการ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน อยู่ในระหว่างการพิจารณา เมื่อมีข้อมูลชัดเจน จะประกาศอีกครั้ง และเตรียมแผนรับมือป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่กระจายต่อไป



ทั้งนี้ การปรับปรุงข้อมูลบัญชีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของประเทศไทย จากในปี 2552 มีทั้งสิ้น 273 ชนิด ล่าสุดในปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมเป็น 333 ชนิด ประกอบด้วย รายการ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วจาก 81 ชนิด เพิ่มขึ้นเป็น 135 ชนิด รายการ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน  จาก 52 ชนิด เป็น 66 ชนิด รายการ 3 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติรุกรานในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย จาก 49 ชนิด ลดลงเหลือ 44 ชนิด และรายการ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย จาก 91 ชนิด ลดลง 88 ชนิดหลังจากนี้จะเตรียมนำข้อมูลบัญชีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นล่าสุด เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป



 



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X