ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่างพ.รงบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2558 ด้วยมติ 183 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 3 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 50 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 10 คน และสมาชิกสนช.อีก40คน โดยมีกรอบเวลาในการแปลญัตติร่างพ.ร.บ.ภายใน7วัน และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่5 กันยายน เพื่อนำเข้าที่ประชุมในวาระ2และวาระ3ในวันที่ 17-18กันยายน นอกจากนี้ประธานสนช.ได้นัดประชุมสนช.ครั้งที่3ในวันที่21สิงหาคม ในวลา10.00น.
ก่อนหน้านี้ ในช่วงท้ายของการประชุมสนช. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของสนช. เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. แต่ยังมีการเสนอให้แก้ไขในรายละเอียดบางส่วน เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่นายสมชาย แสวงการ สนช. แสดงความคิดเห็นว่าแม้แผนการดำเนินการจะครอบคลุม แต่จำนวนเงินที่กำหนดอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานตามแผนงาน ส่วนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ นายสมชาย ย้ำว่า อยากให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาโดยละเอียด โดยเฉพาะในขั้นตอนของการบริหารเงินที่มีการทุจริต
ส่วนนางนิสดารก์ เวชยานนท์ สมาชิกสนช. ตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 4 ข้อ คือ การเดินหน้าปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ยังไม่ชัดเจน หากมีงบประมาณสนับสนุนแล้วจะทำให้การดำเนินการไม่คุ้มค่า ส่วนรายได้ของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ส่งเข้าคลังในสัดส่วนปีละร้อยละ 4.7 ของรายได้ที่ได้รับ คิดว่าน้อยเกินไป หากจะมีการปฏิรูปควรจะดำเนินการในจุดนี้ด้วย ส่วนงบท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยที่มียอดสูงถึง 2 แสนล้านบาท และมากกว่างบประมาณของบางกระทรวง เห็นว่าควรมีการตรวจสอบ หากบางโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จควรมีการทบทวนว่าควรดำเนินการต่อไปหรือไม่ และส่วนสุดท้าย คืองบประมาณกระทรวงศึกษาธิการที่มีจำนวนมาก แต่ผลสำฤทธิ์ที่ได้กลับไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป จึงอยากให้มีการแก้ปัญหาให้ตรงจุด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังฟังการอภิปรายของสมาชิกสนช. ทราบว่า ทุกฝ่ายคาดหวังการทำงาน จะทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการปฏิรูป เพราะถ้าการปฏิรูปดำเนินไม่ได้ จะทำให้ส่วนอื่นๆเดินต่อไปไม่ได้ด้วย การจัดทำแผนงบประมาณมีการเปรียบเทียบในปีก่อนๆแม้บางส่วนจะคล้ายกันแต่จะแตกต่างกันในรายละเอียด ที่ผ่านมาปัญหาสะสมมานาน การแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นใน1ปีเป็นไปได้ยาก แต่จะพยายามวางแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ย้ำว่า คสช.ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่ต้องมีการวางแนวทางเพื่อให้ทุกส่วนร่วมกันแก้ไข
บุศรินทร์