เปิดโผ TOP 6 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดในประเทศไทย ช่วงปี2559

13 พฤศจิกายน 2560, 15:58น.


      แผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดผลรายงานความปลอดภัยทางถนน ปี 2559 ครั้งที่3 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356คน สถิติสูงขึ้นกว่าในปี 2558 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตทางถนนอยู่ที่ 19,479คน (เพิ่มขึ้น 2,877คน) ซึ่งจำนวน 3ใน4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย ช่วงอายุระหว่าง 15-29 ปีมีสถิติมากที่สุด





(ภาพจาก : รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทยปี 2559 )



        ดร.ปรีดา จาตุรพงศ์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยสถิติของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูล 3ฐานหลัก 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3.บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1แสนคน 6 อันดับแรกของจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 1.)ระยอง 72.2 2.)สระแก้ว 69 3.)ชลบุรี 58.7 4.)จันทบุรี 57.8 5.)นครนายก 56.3 และ 6.)ปราจีนบุรี 55.9 ซึ่ง 45% ของผู้เสียชีวิต เป็น ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 39% คนเดินเท้า 5% และคนขี่จักรยาน 1%





(ภาพจาก : รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทยปี 2559 )



           นายแพทย์วิทยา  ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า นอกเหนือจากสถิติผู้เสียชีวิตทางถนนที่สูงขึ้น ได้มีการเก็บสถิติของจังหวัดที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น คือ สระแก้ว ลพบุรี นครนายก อ่างทอง และสิงห์บุรี สำหรับจังหวัดที่มีสถิติผู้เสียชีวิตลดลง คือ ตาก ชุมพร ปราจีนบุรี นครสวรรค์ และภูเก็ต จากรายงานดังกล่าว สรุปได้ว่าปี 2559 นั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว หรือมีทางหลวงผ่าน ในโซนภาคตะวันออก ทำให้มีการพูดคุยถึงการบังคับใช้กฎหมาย ที่ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น จำนวนกำลังพล ระบบที่รองรับ รวมทั้งแรงต่อต้านจากประชาชน เป็นต้น แม้สังคมไทยจะมีการตื่นตัวเรื่องภัยบนท้องถนนเพิ่มขึ้นจากในอดีต แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการลดจำนวนอุบัติเหตุ ที่ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลงได้  ซึ่งในเว็บไซต์ของ Bloomberg Asia ได้มีการเผยแพร่บทความที่อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าประเทศไทยมีผู้ขับขี่ที่เลวร้ายที่สุดในโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตทางถนน 36.2 ต่อ 1แสนประชากร





(ภาพจาก : Facebook Bloomberg Asia)



       นายแพทย์ธนะพงศ์  จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ระบุว่าทางรอดของประเทศไทย ต้องเริ่มจากระบบการจัดการที่ดี ทั้งด้านโครงสร้าง ถนน ที่มีความปลอดภัย สามารถบังคับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ได้ ด้านยานพาหนะ ที่เป็นมาตรฐาน มีระบบความปลอดภัย เหมือนกับมาตรฐานยานยนต์ในต่างประเทศ ด้านผู้ขับขี่ ให้ตระหนักรู้เรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัยต่อตนเอง และคนรอบข้าง รวมทั้งแนวทางการออกใบอนุญาตขับขี่ เพื่อผลที่ดีของประเทศในระยะยาว



         นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดการกับปัญหาที่ถูกต้อง ต้องอาศัยข้อกำหนดเชิงนโยบาลจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ที่เสี่ยงมากยิ่งต้องมีการจัดการที่มากกว่า โดยรายงานความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ที่ใช้ข้อมูลเปรียบเทียบอย่างละเอียดจากข้อมูล 3ฐาน และผลสถิตินี้จะถูกส่งต่อไปยังองค์การอนามัยโลก เพื่อจัดทำรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลกต่อไป



ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์

ข่าวทั้งหมด

X