แนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า มีการวางกรอบการปฏิรูป เน้นการเร่ง ซ่อม สร้าง โดยเร่งเสริมสร้างความมั่นคง ซ่อมการปรับปรุงการสื่อสารข้อมูลกับสาธารณะให้ครบทุกมิติ และสร้างการบริหารจัดการ และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
ขณะนี้การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพื่อการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการและมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ โดยการกระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม
ขณะที่แหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศก็มีปริมาณที่จำกัดและลดลงอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงในด้านการบริหารจัดการพลังงานจากการใช้พลังงานที่ขาดประสิทธิภาพ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้าระบบสายส่ง ระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุง หรือลงทุนอย่างเพียงพอ เพื่อรองรับเทคโนโลยีหรือการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่กฎหมายและระเบียบไม่เอื้อต่อการพัฒนาและการแข่งขันเสรี
นายพรชัย ยังกล่าวอีกว่า หากมีการปฏิรูปพลังงานให้ดี จะเป็นตัวส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยให้มากขึ้นด้วย โดยขณะนี้พลังงาน มีอัตราส่วนร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP มีอัตราส่วนร้อยละ 25 ของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ขณะเดียวกันยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ภาคการขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 50
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของแหล่งพลังงาน ซึ่งจะต้องเร่งแก้ในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ เช่น การเปิดเสรีท่อก๊าซ สายส่ง NGV LPG ที่ในอนาคตจะมีการแข่งขันมากขึ้น และจะลดการผูกขาดการค้าพลังงานเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น การปฏิรูปองค์กรภาครัฐ ที่จะต้องมีการแบ่งปันผลผลิตการให้ข้อมูลกับประชาชนจะมีการตั้งสารนิเทศด้านพลังงาน เป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นตรงกับใคร โดยในระยะแรกจะทำงานกับกระทรวงพลังงานไปก่อน หากมีความพร้อมจะแยกตัวออกมา การปฏิรูปด้านธรรมาภิบาลในกิจการพลังงานโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวคิดว่าปตท. เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่จะต้องทำให้ดียิ่งกว่าเดิมด้วย
สำหรับประเด็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติยังไม่อยู่ในแผนการของคณะกรรมการปฏิรูป และไม่จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาในเรื่องดังกล่าว
ด้านพลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 ครั้ง โดยครั้งแรก วันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 วันที่ 8 ธันวาคม จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 3 วันที่ 13 ธันวาคม ที่จังหวัดนครสวรรค์ และครั้งที่ 4 วันที่ 23 ธันวาคม จังหวัดระยอง