ปธ.ปฎิรูปศก.เร่งแข่งขันการเกษตร เน้นจ้างงานเพิ่มขึ้น ปัดตอบนโยบายช็อปช่วยชาติ

06 พฤศจิกายน 2560, 15:19น.


แนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า จะปฏิรูปประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นโดยยกระดับปัจจัยสนับสนุน อาทิ การพัฒนาศักยภาพคน และข้อมูล พัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ปฏิรูปการแข่งขันด้านการเกษตร ซึ่งมีการจ้างงานมากที่สุด สนับสนุนสถาบันด้านผลิตภาพ ลดการกีดกันการค้าในกลุ่มอาเซียนในเขตอนุ ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการค้า เงินทุน แรงงาน ส่งเสริมการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่ม CLMV ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลขนาดใหญ่ ดิจิตอล รวมถึงการลงทุนในตลาด CLMVT เช่น ประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน ที่กำลังเจริญเติบโต มีประชากรจำนวนมาก คาดว่าการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวจะเห็นผลใน 5-10 ปีข้างหน้านี้



นอกจากนี้จะมีการพัฒนาการเชื่อมโยงกลุ่มคลัสเตอร์ อุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก (EEC) และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมการวิจัย รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใหม่



สำหรับการเพิ่มความเท่าเทียมและการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน ขณะนี้กำลังดูเนื้อหาในเชิงลึก ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่ แต่ถ้าต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จะต้องมีหน่วยงานเฉพาะตั้งขึ้นมาใหม่ ตอนนี้กำลังดูตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ศึกษาข้อดีข้อเสีย และบริบทของประเทศไทย ว่าแบบไหนจะเหมาะสมมากที่สุด



การเสริมสร้างพลังงานอำนาจในชุมชน โดยประเด็นดังกล่าวกำลังทำงานควบคู่กับคณะกรรมการปฏิรูปงานบริหารราชการแผ่นดิน รวมไปทั้งการลงทุนด้านการศึกษาสำหรับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง  



ส่วนการปฏิรูปด้านสถาบันเศรษฐกิจ นายประสาร ระบุว่า จะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานนโยบาย ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนยุทธศาสตร์ และหน่วยงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยข้อมูลแห่งชาติ ปฏิรูปหน่วยงานการคลังและงบประมาณ ที่จะต้องปฏิรูปนโยบายการคลัง ภาษี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่งมี หากนำภาษีไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง จะไม่เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งการปฏิรูปหน่วยบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินทรัพย์ของภาครัฐ ที่จะต้องบริหารจัดการให้ดี นอกจากนี้ยังจะต้องปฏิรูปหน่วยงานดำเนินการและการประเมินผลด้วย



ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ยังนำข้อเสนอไปประกอบเป็นข้อกฎหมายด้วยว่า จะมีบางเรื่องต้องนำไปเป็นข้อกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ในรัฐบาลต่อไป ซึ่งรายละเอียดอื่นๆ จะเปิดเผยในโอกาสต่อไป รอให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน ส่วนประเด็นนโยบายช้อปช่วยชาติ ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ไม่เคยถกในเรื่องดังกล่าว ส่วนตัว ไม่ขอออกความคิดเห็นในเรื่องนี้

ข่าวทั้งหมด

X