ผลสำรวจ ประชาชนสนับสนุนให้คสช.-สนช.-สปช.เปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ

17 สิงหาคม 2557, 09:51น.


ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเปิดเผยทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”  สำรวจระหว่างวันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2557 กลุ่มตัวอย่าง 1,241 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการบริหารบ้านเมือง อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4


จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.91 ระบุว่า จำเป็นต้องเปิดเผย ร้อยละ 10.31 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 1.77 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 


ด้านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.64 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 3.22 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


ด้านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.51 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 9.11 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 3.38 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


ด้านกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.32 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 12.81 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 3.87 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


และในด้านของรัฐบาลของ คสช. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.10 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 5.96 ระบุว่า ไม่จำเป็น และร้อยละ 1.93 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เมื่อถามถึงเหตุผลในเชิงลึกถึงความจำเป็นในการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ ส่วนใหญ่ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน หากจะเข้ามาบริหารหรือแก้ไขปัญหาของประเทศ ต้องแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และประชาชนทุกภาคส่วนต้องสามารถเข้าถึงในการรับทราบข้อมูลด้วย สำหรับเหตุผลที่ระบุว่า ไม่จำเป็น เนื่องจาก เห็นว่าทุกฝ่ายที่เข้ามาอยู่ในองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ นั้น มีความจริงใจในการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอยู่แล้ว และยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากหลากหลายอาชีพ เช่น อาจารย์ นักวิชาการ ผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง หรือ แม้แต่ บุคคล ที่มาจาก คสช. และบางส่วนมองว่าถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะยินยอมเปิดเผยหรือไม่ก็ได้


เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเป็นการป้องกันการคอร์รัปชัน พบว่า ในส่วนของคู่สมรสที่จดทะเบียน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.47 ระบุว่า จำเป็นต้องเปิดเผย ขณะที่ ร้อยละ 15.95 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 2.58 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


สำหรับคู่สมรสที่ไม่จดทะเบียน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.99 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 38.44 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 7.57 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


สำหรับอดีตคู่สมรส พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.81 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 53.59 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 6.61 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 20 ปี)  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.96 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 45.37 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 4.67 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


ส่วนบุตร ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.21 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 22.80 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 2.98 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


และบุตรบุญธรรม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.97 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 32.72 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 5.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


สำหรับ บิดา/มารดา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.24 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 34.73 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ ร้อยละ 4.03 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


และพี่/น้อง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.05 ระบุว่า จำเป็น ขณะที่ ร้อยละ 37.95 ระบุว่า ไม่จำเป็น และ 5.00 ร้อยละ ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ


เมื่อถามถึงเหตุผลในเชิงลึกถึงความจำเป็นในการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ ส่วนใหญ่ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการโอนย้ายทรัพย์สินไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 20 ปี) ซึ่งผู้ปกครอง ก็สามารถเปิดบัญชีให้ได้ จึงต้องแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน สำหรับเหตุผลที่ระบุว่า ไม่จำเป็น เนื่องจากบุคคลในบางกลุ่มนั้น ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันหรือหากมีก็มีความเกี่ยวข้องกันเล็กน้อย เช่น อดีตคู่สมรส บุตรบุญธรรม และในส่วนของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 20 ปี) ระบุว่า ยังไม่สามารถทำธุรกรรมหรือนิติกรรมได้ และบางส่วนมองว่าถือเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล


 


 


....
ข่าวทั้งหมด

X