กรมทางหลวง- การยางแห่งประเทศไทย นำยางพารา มาทำเสาทาง-แบริเออร์กั้นถนน ลดอุบัติเหตุ

30 ตุลาคม 2560, 15:04น.


การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการใช้ยางพารา ระหว่างกรมทางหลวงและการยางแห่งประเทศไทย นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2561 กรมทางหลวงเตรียมแผนการใช้ปริมาณน้ำยางพาราเข้มข้น จำนวน 4,586 ตัน เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมผิวทาง และใช้ในงานวิจัย พัฒนา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมยางพาราในภาครัฐ หน่วยงานละ 9,000 ยางน้ำ โดยช่วงต้นปี กรมทางหลวงใช้ไป 1,000 น้ำยางพารา ในการฉาบผิวถนนแล้ว





เบื้องต้น กรมทางหลวง จะทำเสานำทางด้วยยางพาราเป็นชนิดแรก เพราะสามารถทำได้ง่าย รวดเร็วที่สุด และเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง รวมทั้งมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รถ ใช้ถนน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นและลดการปะทะ ที่เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่าเสานำทางที่ทำจากปูนซีเมนต์ แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเสานำทางที่ทำมาจากปูนซีเมนต์ก็ตาม



 





นายธานินท์ ระบุว่า เสานำทางที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ มีราคาประมาณต้นละ 900 บาท ส่วนเสานำทางที่ผลิตจากยางพารา ราคาประมาณต้นละ 2,000 บาท แต่ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากแรงปะทะ หลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงวันนี้ จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าในปี 2561 จะสามารถสร้างเสานำทางได้ ประมาณ 120,000 ต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณเหลือจ่าย ไม่เกิน 400 ล้านบาท จะผลิตเสร็จภายใน 6 เดือน โดยในเสานำทาง 1 ต้น จะมีน้ำหนักประมาณ 40-42 กิโลกรัม มียางธรรมชาติผสมต้นละประมาณ 15 กิโลกรัม สำหรับการติดตั้งเสานำทาง จะติดตั้งเสริมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่มืด



อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ในอนาคต จะมีการคิดค้น วิจัย ในเรื่องแบริเออร์กั้นถนนในการก่อสร้างต่างๆ ที่ทำจากยางพารา และปูยางพาราบนพื้นผิวถนน ช่วงทางโค้ง ช่วยป้องกันถนนลื่น และทำให้การเบรคดีขึ้น





ด้านดร. ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่นำน้ำยางพารามาใช้ตามนโยบายของรัฐบาล และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เริ่มติดต่อเข้ามา โดยปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางพาราขณะนี้คือราคาน้ำยางผันผวน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบให้กับต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นการใช้งานภายในประเทศให้มากขึ้นถึงร้อยละ 30 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถกระตุ้นได้ตามที่กำหนดไว้





อย่างไรก็ตามราคายางพาราขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในช่วงหมดฤดูฝน เกษตรกรจะสามารถกรีดยางได้มากขึ้น และน้ำยางพาราจะมีราคาถูกลงกว่าเดิมอีก



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X