+++สำนักพระราชวัง แจ้งหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เวลา 15.00 น. วันที่ 25 ต.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในการพระราชกุศลออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รับสัญญาณการถ่ายทอดจนเสร็จสิ้นพระราชพิธี
+++ส่วนบริเวณสนามหลวงในขณะนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เจ้าหน้าที่ ได้เปิดจุดคัดกรองให้ประชาชนที่มาเฝ้ารอสามารถเข้าไปภายในพื้นที่สนามหลวงได้แล้ว เพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในแต่ละจุดคัดกรองจะมีเจ้าหน้าที่ร่วมกับจิตอาสา ช่วยกันตรวจสอบบัตรประชาชน สแกนกระเป๋า และได้รับแจกสติ๊กเกอร์ เพื่อรันหมายเลข แม้ช่วงกลางดึกจะเกิดฝนตกโปรยปรายลงมาอย่างหนักทำให้ประชาชนที่มาปักหลักพักค้างแรม ต้องวิ่งหลบฝนกันแต่ทุกคนยังคงยืนหยัดไม่ย่อท้อ ทั้งนี้ บรรดาอาคารสถานที่ต่าง ๆ พร้อมใจกันอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้หลบฝนในช่วงที่ฝนตก และเมื่อฝนหยุดประชาชนก็มานั่งรอ โดยรอบท้องสนามหลวงตามเดิม
+++สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดหาเบาะรองนั่งแก่ประชาชน โดยรอบทุ่งพระเมรุ ตามเส้นทางที่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศยาตราผ่าน เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมกราบถวายสักการะพระบรมศพ ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่สวรรคาลัย
+++ขณะที่ 2-3 วันก่อน ฝนตกต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ จิตอาสา ช่วยกันดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีเต็นท์อาหาร เต็นท์พยาบาล ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์กาชาด นอกจากนี้ ยังมีจิตอาสาเดินแจกอาหารและยารักษาโรค
+++ส่วนการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เปิดเผยว่า ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จฯ มาทอดพระเนตร การทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน โดยทรงห่วงใยทั้งเรื่องการทำงาน และอาหารการกินของช่างฝีมือที่มาร่วมแรงกันทำเครื่องสด เนื่องจากมีช่างรวมกันถึง 1,000 คน ซึ่งการทำเครื่องสดนี้จะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 24 ต.ค. ก่อนที่ช่างศิลปกรรมทั้ง 13 นาย จะนำไปประดับพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. และให้เสร็จภายในเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน
+++ขณะที่ สมาชิกราชวงศ์ ประเทศต่างๆ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รวม 24 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีรองประมุข หัวหน้ารัฐบาลและผู้แทนพิเศษอีก 18 ประเทศ รวม 42 ประเทศ
+++การซ้อมการแสดงมหรสพสมโภชพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในพื้นที่จริง บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ ได้แก่ เวทีที่ 1 โขนพระราชทานเรื่องรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร นางสีดาหายและพระรามได้พล ขับพิเภก นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ในวันที่ 25 ต.ค. ผู้แสดง นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่ง ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในการแสดงมหรสพสมโภชครั้งนี้ จำนวนกว่า 3,000 คน จะเดินทางจากวิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา เพื่อเข้าพักและเตรียมความพร้อมที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วังหน้า ก่อนเข้าพื้นที่จริงท้องสนามหลวงในวันที่ 26 ต.ค.
+++สถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมชลประทาน ได้ทยอยเพิ่มปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 2,600 เป็น 2,700 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 23 ตุลาคม 2560 มาจนถึงเช้าวันที่ 24 ตุลาคม 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,697 ลบ.ม./วินาที หลังจากนี้ จะคงปริมาณน้ำให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 2,700 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ พร้อมกับบริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อน โดยการแบ่งรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 768 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกับรับน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,347 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังคงปิดการระบาย
+++จากการติดตามระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พบว่าบริเวณ จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 22 เซนติเมตร บริเวณ จ.สิงห์บุรีไปจนถึง จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร ส่วนบริเวณบ้านป้อม บ้านบางหลวงโดด และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำทรงตัว โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,882 ลบ.ม./วินาที ยังต่ำกว่าปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรับได้ 3,500 ลบ.ม./วินาที และในช่วงระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2560 ยังคงได้รับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน จึงได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
+++ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ไปจัดทำรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยการสร้างอาชีพให้เกษตรกร ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการจ้างงาน 2.มาตรการเงินกู้ฉุกเฉิน 3.มาตรการส่งเสริมปัจจัยการผลิต รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าว 4.มาตรการลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้ และ 5.มาตรการช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ ซึ่งหากหน่วยงานใด สามารถดึงงบประมาณประจำเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือก็ให้ใช้งบประมาณประจำดังกล่าวทันที แต่หากหน่วยงานใดมีงบประมาณไม่เพียงพอ ให้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณกลาง เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะเสนอ ครม.ได้ภายใน 2 สัปดาห์