ในวันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยฯ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ที่กรมชลประทาน
ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาในวันนี้จะมีการแถลงข่าว ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ แล้วแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเมื่อคืนนี้ แต่เนื่องจากในพื้นที่ยังคงมีอากาศร้อนชื้นจะทำให้มีสภาพอากาศแปรปรวนต่อไปอีก 1 วัน แต่ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลงและมีอากาศเย็น มีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 19 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจากปริมาณฝนที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำน่านมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น กับมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมเป็นต้นไป ในปริมาณไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เพิ่มสูงขึ้น 20-25 เซนติเมตร
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประชุมสรุปสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรับทราบและสรุปสถานการณ์น้ำปัจจุบัน เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พร้อมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน อ.น้ำพอง อ.หนองเรือ อ.ภูเวียง อ.หนองนาคำ และ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น รวมทั้ง อ.ศรีบุญเรือง และ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยมอบถุงยังชีพ พร้อมข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่ม โดยปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำในอ่าง 2,962 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 122 ของความจุเขื่อน คิดเป็นปริมาณน้ำมากกว่าความจุเขื่อนหรือปริมาณน้ำส่วนเกินแล้วถึง 531 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงเกินระดับเก็บกักสูงสุดปกติ 1.35 เมตร จากข้อมูล ณ วันที่ 22 ตุลาคม และเปิดศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง
ในระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) ครั้งที่ 20 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ นัดสุดท้าย ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อหาข้อยุติของกรอบข้อตกลงการลดภาษีสินค้าก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 31 (ASEAN Summit) ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายนนี้
และในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-2 พฤศจิกายนนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญนักธุรกิจจากทั่วโลก มาเจรจาซื้อขายข้าวในฤดูกาลใหม่ ซึ่งนางอภิรดีเปิดเผยว่ามีผู้ซื้อจำนวน 169 บริษัท จาก 24 ประเทศทั่วโลกได้แจ้งตอบรับมาแล้ว คาดว่าจะมีการตกลงซื้อขายภายในงานทันที 600 ล้านบาท และสั่งซื้อต่อเนื่องภายใน 1 ปี ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เตือนว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพื้นที่เพาะปลูกข้าวมีมากกว่าความต้องการของตลาด ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมชลประทาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และคณะกรรมการในแต่ละจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ร่วมกันกำหนดแผนการปฏิบัติงานในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยพบว่า ปีนี้มีเกษตรกรต้องการปลูกข้าวนาปรังพื้นที่ 13,350,000 ไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 9,210,000 ไร่ นอกเขตชลประทาน 4,140,000 ไร่ แต่จากการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การปลูกข้าวนาปรังไม่ควรเกิน 11,550,000 ไร่ ถึงจะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงจะส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยพืชสด พืชตระกูลถั่วและอื่นๆ
ในวันพรุ่งนี้สมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานจะมีการประชุมหารือ นโยบายการยกเลิกโควตาและลอยตัวราคาน้ำตาลทรายซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ซึ่งนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน มองว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมก็ควรเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อน เพราะเวลานี้สูตรการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนการแก้ไขกฎหมายก็ยังต้องเปิดรับฟังความเห็นก่อน จึงกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ
...