โครงการคัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็ก แนะนำหนังสือ 100เล่ม สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีความเป็นไทย

19 ตุลาคม 2560, 16:12น.


การพิจารณา 100 เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนปี 2560 ที่จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ี 22 ประจำปี 2560 นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย กรรมการพิจารณาหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชนอายุ 12 -18 ปี กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาในกลุ่มที่รับผิดชอบ ช่วงอายุ 12-18 ปี จะพิจารณาจากผลงานที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว และอยู่ในกรอบระยะเวลาย้อนไป 10 ปี พบว่าหนังสือมีความหลากหลายทั้งบันเทิงคดีและสารคดี มีเนื้อหากว้าง เนื่องจากในช่วงอายุ 12-18 ปี มีเด็กหลายช่วงวัย จึงต้องพิจารณาอย่างดีหาจุดเด่นของแต่ละเรื่อง สิ่งสำคัญคือต้องเป็นหนังสือไทย โดยจะเห็นว่าหนังสือส่วนใหญ่ ที่ผ่านการพิจารณามักพูดถึงเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นไทยในภูมิภาคต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมในช่วง 10 ปี ที่เน้นเรื่องของวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกของ โครงการ 100 เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน ปี 2560 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคาดว่าจะจัดอีกในปีต่อๆไป เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้สนใจวรรณกรรมเด็กและเยาวชน แสดงให้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญกับวรรณกรรมเด็กและเยาวชน เพราะเด็กจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังการอ่าน





โครงการนี้จะเป็นแนวทางชี้นำให้เด็กและเยาวชนมีทางเลือกหนังสือที่เหมาะสม ที่ผ่านการคัดกรอง นำไปสู่ความสนใจที่จะค้นหาหนังสืออื่นๆอ่านต่อไป ขณะที่ ความสนใจอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน ในช่วงอายุ 12-18 ปี ปัจจุบันหากเทียบกับยุคก่อนๆแล้ว ได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่เด็กและเยาวชนสามารถอ่านหนังสือได้หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่วรรณกรรมที่เข้าใจง่าย ไปจนถึงวรรณกรรมที่ซับซ้อน หักมุม ส่วนหนึ่งมาจากสื่อสมัยใหม่ที่ให้ข้อมูลได้มากขึ้น เนื้อหาหลากหลาย ตามสื่อสังคม ออนไลน์ที่เด็ก เยาวชนเข้าถึง แต่ต้องระมัดระวังเพราะสื่อสมัยใหม่ที่เข้าถึงง่าย อาจเป็นอันตรายสำหรับเด็ก จึงต้องมีผู้ชี้แนะความถูกต้องเหมาะสม ขณะที่พฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน ปัจจุบันมักมีความอยากรู้ หาหนังสือที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่อาจสอดแทรกความไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่จึงต้องให้คำแนะนำ อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสำนักพิมพ์ที่จะคัดเลือก ผลิตหนังสือออกมา ต้องตระหนักว่าการเลือกผลิตหนังสือไม่เพียงเพื่อการค้าเท่านั้น แต่ต้องมีจรรยาบรรณ ที่ไม่ให้ยาพิษกับเด็กและเยาวชน





ขณะที่ มุมมองการอ่านหนังสือของเด็กและเยาวชน ในยุคที่มีเทคโนโลยีจำนวนมาก นายจรูญพร กล่าวว่า หนังสือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก การอ่านเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ต้องปลูกฝังให้เด็ก แม้รู้ว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปพ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องทำงานเดินทาง มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลง จึงให้เด็กอยู่กับสื่อออนไลน์แทน ถึงจะเป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ แต่ก็น่าเสียดายหากขาดการปลูกฝังให้เด็กอ่านหนังสือ ดังนั้นพ่อแม่จะต้องแบ่งเวลาเพื่ออ่านหนังสือกับลูก มีเวลาให้กับเด็ก หลังจากนั้นเด็กจะสนใจอ่านหนังสือด้วยตัวเอง โดยขึ้นอยู่กับครอบครัวที่จะสร้างบรรยากาศการอ่าน เพื่อนำทางให้กับเด็ก



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 

ข่าวทั้งหมด

X