การจัดสร้างพระเมรุมาศและประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า การออกแบบพระเมรุมาศ จะต้องยึดตามหลักไตรภูมิทั้งหมด มีสัตว์หิมพานต์ เทวดา และสิ่งประกอบที่สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยยึดตามพระราชพิธีโบราณ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ผสมผสานหลากหลายความเชื่อ หลายรูปแบบ และมีรายละเอียด ทั้งกล้ามเนื้อ ลวดลายของประติมากรรมรูปปั้น ความอ่อนไหวของน้ำ ที่สื่อถึงโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีเกี่ยวข้องกับน้ำจำนวนมาก รวมไปถึงสระอโนดาต ที่อยู่รอบพระเมรุมาศ
นายสมชาย ศุภลักษณ์อําไพพงษ์ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวถึงประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ ว่า ช่างสิบหมู่จัดสร้างประติมากรรม ปั้น หล่อ เขียนสี งานศิลปกรรมประดับพระเมรุมาศ เพื่อนำไปประดับตกแต่ง ประกอบด้วย เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 8 องค์ เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ จำนวน 32 องค์ ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ คือ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก รวม 4 องค์ สัตว์มงคลประจำทิศ คือ ช้าง ม้า โค สิงห์ จำนวน 8 ตัว ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ 6 องค์ พระพิเนก พระพินาย รวม 2 องค์ คชสีห์ - ราชสีห์ จำนวน 8 ตัว ครุฑประดับหัวเสา จำนวน 4 ตัว สุนัขทรงเลี้ยง ประติมากรรมคุณทองแดง 1 ตัว
ด้านรายละเอียดของราวบันไดนาค ขึ้นหุ่นโครงสร้าง แกะโกรนหุ่นด้วยโฟม ปั้นแต่งเก็บรายละเอียดด้วยน้ำมัน โดยมี 4 ชั้น ชั้นแรก นาค 1 เศียร ได้รูปแบบจากสมัยรัตนโกสินทร์ ตามแบบเรืออนันตนาคราช ชั้นที่ 2 มกรนาคา 3 เศียร เป็นนาค ผสมมังกร มีเขา มีขา นำศิลปกรรมสมัยสุโขทัย มกรในเรือนแก้วที่วัดพุทธชินราช ชั้น 3 นาคทรงเครื่อง 5 เศียร พระยาวาสุกรีนาคราช และชั้นที่ 4 นาคจำแลง 7 เศียร
ในส่วนของส่วนของสัตว์หิมพานต์ ที่ชั้นลานอุตราวรรต ภายในสระอโนดาต ประกอบด้วย เหล่าบรรดาสัตว์หิมพานต์ประติมากรรม ในชั้นมี แบ่งเป็น 4 สระ ไว้ที่มุมทั้ง 4 ของพระเมรุมาศ เริ่มจากด้านทิศเหนือ ปั้นประติมากรรม สัตว์หิมพานต์ช้างตระกูลพงศศ์พรหม 10 ตระกูล ทิศตะวันออก ประดับด้วยประติมากรรมรูปสิงห์ บริเวณเชิงบันไดทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เป็นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์รูปม้า 4 ตระกูล และทิศใต้ ประดับด้วยประติมากรรมรูปโค บริเวณเชิงบันไดทิศใต้
ผู้สื่อข่าว: ปภาดา พูลสุข