กทม.รับฟังความเห็นนัดแรก สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ราชวงศ์-ท่าดินแดง กังวลปัญหาจราจร

19 ตุลาคม 2560, 12:41น.


การศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์ถนน-ท่าดินแดง ในการประชุมครั้งที่ 1  นายจิระเดช กรุณกฤตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ กล่าวว่า  ปัจจุบันโครงข่ายถนนในแนวตะวันออก-ตะวันตกยังขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งต่าง รวมถึงมีข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวกั้น ดังนั้นคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกมีมติมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริเวณแยกเกียกกาย บริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง บริเวณถนนลาดหญ้า-ถนนมหาพฤฒาราม บริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนคร โดยกรุงเทพเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัทเทสโก้จํากัดให้ศึกษาสำรวจออกแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ท่าดินแดง และศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2554





จากนั้นได้เสนอแนะให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้เคียงพื้นที่สถานที่โบราณสถานในระยะ 2 กิโลเมตร กรุงเทพมหานครจึงได้ว่าจ้างบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาและวิเคราะห์EIA เพื่อประเมิน ผลกระทบและเสนอมาตรการป้องกัน การแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยจะทำการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมในรัศมี 500 เมตร ยกเว้นโบราณสถาณที่จะทำการศึกษาในรัศมี 2 เมตร





ด้านนายกฤษดารักษ์ แพรัตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กล่าวถึงการออกแบบก่อสร้างสะพานนี้ ว่า จะมีการพัฒนาโครงการ โดยแนวสะพานข้ามออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็ก2ชั้น มีความยาวกว่า450เมตร ตั้งแต่ถนนราชวงศ์ตัดสามแยกถนนทรงวาด ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดปากซอยถนนท่าดินแดง 17 โดยชั้นบนออกแบบให้รถยนต์วิ่ง จำนวน2 ช่องจราจร ส่วนชั้นล่างออกแบบไว้ให้ประชาชนเดินข้ามฝั่งและจัดกิจกรรมต่างๆได้ ซึ่งจะอยู่ในที่ร่มและสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำได้อย่างสวยงาม





ขณะที่การรับฟังความคิดเห็น ผู้แทนกรมเจ้าท่า กังวลว่า ท่าเรือราชวงศ์และท่าเรือดินแดง จะได้รับผลกระทบจากช่วงกำลังก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ นายเศวต คลายนาทร วิศวกรโครงการ ชี้แจงว่า หากมีการก่อสร้างสะพานนี้จริงจะต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบ เนื่องจากพบว่าเคยก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่ใกล้กับท่าเรือมาแล้ว เช่น สะพานตากสิน ขณะเดียวกันในส่วนภาคประชาชนส่วนใหญ่ต่างกังวลเรื่องปัญหาด้านการจราจร หากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นมา มองว่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาด้านการจราจรมากขึ้น ไม่สามารถช่วยคลี่คลายจราจรได้ ซึ่งทางผู้จัดทำโครงการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับฟังข้อคิดเห็นและจะนำผลการประชุมวันนี้กลับไปวิเคราะห์ผลและนำกลับมาหารือกันอีกครั้ง 

ข่าวทั้งหมด

X