สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย ร่วมกับหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศน์เชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ TGWA ครั้งที่ 7 หัวข้อ “สถานการณ์น้ำปลายปี 60 กรุงเทพฯ น้ำรอระบายนาน หรือ …?” ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่คืนวันที่ 13 ต.ค.60 จนถึงวันที่ 14 ต.ค.60 มีฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างใน กทม. ปริมาณฝนที่ตกลงมามีปริมาณสะสมต่อเนื่องในช่วง 6 ชั่งโมง วัดได้สูงสุดที่สำนักงานเขตพระนคร ที่มีปริมาณฝนตกรวมสูงสุดถึง 214.5 มิลลิเมตร (มม.) ถือได้ว่ามากที่สุด ในรอบกว่า 10ปี แต่ถ้าเฉลี่ยแล้วพบว่าไม่ถึง 40 มม.ต่อ ชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่เกินศักยภาพการระบายน้ำของ กทม.ที่ได้วางระบบไว้ที่ 60 มม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นสาเหตุของน้ำท่วมจึงสะท้อนถึงปัญหาระบบการระบายน้ำของ กทม. ที่ถูกสร้างและปรับปรุงมากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสภาพระบบระบายน้ำที่มีการทรุดตัวและเต็มไปด้วยตะกอน ขยะติดค้าง ทำให้ศักยภาพการระบายนั้นน่าจะน้อยกว่า 40 มม.ต่อ ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อฝนตกปานกลางถึงหนัก ติดต่อกันหลายชั่วโมง จึงมีน้ำรอการระบายจำนวนมาก
ส่วนศักยภาพการระบายน้ำที่ลดลงแล้ว พบว่า การทรุดตัวของท่อที่ไม่เท่ากันทำให้ค่าระดับการไหลของน้ำตามแรงโน้มถ่วงเปลี่ยนไป คือ สมัยก่อนได้วางระบบท่อระบายน้ำที่มีปลายท่อลงสู่คูคลองต่างๆ นั้นให้ปลายท่อระบายสูงกว่าระดับน้ำในคลองในอดีต แต่ปัจจุบันระดับน้ำในคลองต่างๆ อยู่สูงกว่าปลายท่อระบายน้ำ และตั้งแต่ปีพ.ศ.2526 กทม. มีระบบพื้นที่ปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม โดยทำผนังป้องกันน้ำท่วมตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและมีการปรับปรุงเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดโดยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 250 เมตร ทำให้ในช่วงช่วงน้ำขึ้น หรือช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระดับน้ำในแม่น้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำในคลองมาก ดังนั้นการระบายน้ำจากท่อตามถนนสายต่างๆ ลงสู่คลอง และจากคลองไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีระดับน้ำสูงกว่ามากจึงไปได้ยาก ทำให้น้ำเอ่อล้น หรือ”น้ำรอการระบาย”
สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14ต.ค.60 ทำให้กรุงเทพฯมีน้ำรอระบายพร้อมกัน 55 จุดและต้องใช้เวลาระบายน้ำกว่า 24 ชั่งโมงจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกจุด เหตุการณ์นี้กำลังเป็นคำถามใหญ่ ว่าหากในอนาคตมีพายุซ้อนๆกันพัดผ่านบริเวณ กทม.นำฝนตกในพื้นที่ประมาณ 200 – 300 มม.ต่อชั่วโมงนั้น แล้วเราจะตั้งรับหรือบริหารกันอย่างไรดี
ส่วนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปีนี้ ที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะเกิดขึ้นเหมือนในปี 2554 อาจจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ในช่วงปลายปี 2560 คือในเดือน ตุลาคมและพฤศจิกายนนั้นควรเฝ้าระวังเรื่องฝนตกหนักจากร่องมรสุมและอาจจะมีพายุพัด ดังเช่น ปี 2495 และปี 2526 ควรเตรียมการรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนที่เกิดบ่อยขึ้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลระบบการแจ้งเตือนพิบัติภัยล่วงหน้า ควรเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนเรื่องฝนตกหนักและพายุ ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมเรื่องระบบระบายน้ำเพื่อรองรับฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องขยะกีดขวางและอุปกรณ์เครื่องมือที่ช่วยในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้น
วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์ ผสข. รายงาน