สถานการณ์น้ำ นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยวันนี้(16ต.ค.2560) ปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน2,849 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.39เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้(15ต.ค.2560) 9เซนติเมตร สำหรับเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิต์ ยังคงงดการระบายน้ำต่อเนื่องมากว่า 1สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ไว้สำรองใช้ในฤดูแล้ง ที่กำลังจะมาถึงในอีก 1เดือนข้างหน้า
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ยังควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อน ในเกณฑ์ไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เวลา 06.00น. เมื่อวานนี้ ถึง 06.00น. วันนี้ ที่จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง เพิ่มขึ้น 1เซนติเมตร ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำบริเวณบ้านป้อม เพิ่มขึ้น 1เซนติเมตร บริเวณบ้านบางหลวงโดด เพิ่มขึ้น 3เซนติเมตร และ อ.บางบาล เพิ่มขึ้น 5เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง โดยการทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจาก จ.นครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมใช้ระบบชลประทานฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปรวมกันวันละ 578 ลบ.ม.ต่อวินาที และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 2ฝั่งรับน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งต่างๆ รวม 12ทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาและลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้มากกว่า 1,183 ลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 310 ลบ.ม. คาดว่าอีก 2สัปดาห์ น้ำน่าจะเต็มทุ่งทั้งหมด
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้ (16ต.ค.2560) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดรวมกันทั้งสิ้น 57,242ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 81) เป็นน้ำใช้การได้ 33,715ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 71) สามารถรองรับน้ำได้อีก 14,007 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 4เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,219 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 77) ส่วนของพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งกรมชลประทาน ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันนำเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล และกระสอบทราย ทำคันป้องกันน้ำที่จะไหลเข้าท่วมถนนและเส้นทางสัญจร รวมทั้งเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพายุขนุน รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า จะไม่กระทบกับเขื่อนเจ้าพระยา แต่ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานคร จะส่งผลให้มีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคมนี้ อาจทำให้พื้นที่ต่ำเกิดน้ำท่วมขัง ในถนนสายหลัก และตามซอยย่อยต่างๆ เช่น ถ.วิภาวดีรังสิต ถ.ลาดพร้าว และสุขุมวิท ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกรุงเทพมหานครจะมีการจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว:วริศรา ชาญบัณทิตนันท์