หลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการดำเนินการของคณะทำงานซึ่งมีการประชุมไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการได้จัดทำแผนการปฏิรูป 7 ประเด็น ได้แก่ การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนทราบความคืบหน้าของคดี เข้าถึงข้อมูลให้ได้มากที่สุดให้คดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การสร้างกลไกช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จัดหาทนายความให้ผู้เสียหาย และ จำเลย การปรับปรุงค่าธรรมเนียมศาล ตั้งเจ้าพนักงานช่วยประชาชนในการฟ้องคดี การลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ติดตามตัว ใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวแทนการจำคุก และ การคุมประพฤติแทนการจำคุก หรือ นำโทษอื่นมาใช้แทนการจำคุก การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การติดตามผู้หลบหนีมารับโทษ จัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีพิเศษ อาทิ คดีสิ่งแวดล้อม และ จราจร
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับ อัยการ กำหนดระยะเวลาปฏิบัติไม่ให้คดีหมดอายุความ และใช้ระบบนิติวิทยาศาสตร์มาสอบสวนคดีอาญา ให้มีบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 หน่วยงาน และมีอิสระในการทำงาน และครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่ให้รวมศูนย์จุดเดียว
รวมไปถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว พร้อมปรับปรุงรายได้ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ได้เตรียมจัดทำแผนให้เสร็จในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนนำมาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง
ด้าน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน คณะกรรมการ เปิดเผยว่า ในการจัดทำแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะต้องดูแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจควบคู่กันไปด้วย เนื่องจาก มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เช่น การแยกอำนาจสืบสวนสอบสวนออกจากกัน และการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ภารกิจด้านป่าไม้ซึ่งจะต้องจัดทําแผนปฏิรูปให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี