*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.
++++การค้นหาผู้สูญหาย อาคารยูเพลสถล่ม คลอง6 ปทุมธานี หลังนำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้เพิ่มอีก 4 ศพ ล่าสุด เมื่อเวลา 04.30 น.สามารถนำศพขึ้นมาได้อีก 1 ศพ เป็นหญิง(25-30ปี)ที่โซน A เป็นศพที่8 ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่นำศพขึ้นมาได้อีก 4 ศพ ประกอบด้วย นายใกล้รุ่ง ทัพครบุรี, นายสิทธิโชค แกมมณี, นางเพียบ มงคล และนายธนากร ตรีเมฆ รวมถึงอีก 3 ศพ ที่นำออกมาได้ก่อนหน้านี้คือ นายเชษฐา กำพูชาติ นางอ้วนไม่ทราบนามสกุล ตั้งท้อง 7 เดือน รวมทั้งลูกชายของนางอ้วนวัย 4 ปีไม่ทราบชื่อ ล่าสุดพบศพที่ 9 คือ นายดนัย สุขสม (ญาติยืนยัน) และศพที่ 10 ที่โซนดี ยังไม่ทราบชื่อ
+++พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท.ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี และ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการกฎหมาย กอ.รมน. หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมายส่วนรักษาความสงบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมแถลงจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี มีนายศักดิ์สิทธิ์ อินทร์ทอง อายุ 44 ปี วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้าง นางเพ็ญศรี กิติไพศาลนนท์ อายุ 49 ปี ผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และในฐานะนิติบุคคล นายเดี่ยว ปราบโจร อายุ 43 ปี ผู้รับเหมาช่วง นายบุญยกร หีบทอง อายุ 48 ปี ในฐานะนิติบุคคลและส่วนตัว (กรรมการผู้จัดการบริษัท ยู เพลส จำกัด) การตรวจสอบจำนวนคนงานเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 41 คน จำนวนดังกล่าวยังไม่ชัดเจนอาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้างไม่มากนัก เป็นคนงานไทย 24 คน คนงานต่างชาติ 17 คน
++++นอกจากนี้ยังได้ออกหมายจับนายชานัยชนม์ เกิดเทศ อายุ 46 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้าง นายจิระ ขันมั่น อายุ 43 ปี ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และ น.ส.ชม (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี บุตรสาวนางเพ็ญศรี ในฐานะนิติบุคคลและส่วนตัว เบื้องต้นแจ้งข้อหา กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
+++นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนของโครงการยังไม่ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของงานโครงสร้าง เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว โดยนายเดี่ยว ผู้รับเหมาช่วง ได้เทคอนกรีตโดยพลการ ทั้งที่ต้องให้ทางฝ่ายวิศวกรโครงการเข้าไปตรวจสอบก่อน ถึงจะเทคอนกรีตเพิ่มในแต่ละครั้งได้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความไม่เรียบร้อยของงาน ทำให้ตัวโครงสร้างยังไม่พร้อมที่จะรับน้ำหนักของคอนกรีตที่จะเทลงในครั้งใหม่
++++นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงว่า แรงงานที่ประสบเหตุจะได้รับสิทธิกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน หากเป็นแรงงานไทยและต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคมจะใช้เงินกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือได้ทันทีโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แรงงานที่บาดเจ็บตามจริงไม่เกินคนละ 300,000 บาท ส่วนกรณีเสียชีวิตจะจ่ายค่าทำศพ 30,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์โดยทายาทได้รับเงินชดเชยร้อยละ 60 ของค่าจ้างงวดสุดท้าย เป็นเวลา 8 ปี และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีหยุดงานเพื่อพักรักษาตัว หากแรงงานไทยและต่างด้าวที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับระบบประกันสังคม ได้ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการออกคำสั่งให้บริษัทที่เป็นนายจ้างต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพ เงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทน ล่าสุดได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่แล้ว
+++ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) แถลงว่า แรงงานต่างด้าวเป็นสัญชาติกัมพูชา 29 คน เป็นชาย 19 คน หญิง 10 คน ในจำนวนนี้วันเกิดเหตุทำงาน 15 คน ไม่ทำงาน 14 คน บาดเจ็บ 12 คน และสูญหาย 3 คน คือ นายอินเผื่อ อายุ 27 ปี นายแพง อายุ 19 ปี และนายอุย อายุ 27 ปี และไม่ยืนยันว่าติดอยู่ใต้ซากอาคารหรือไม่ ต้องรอการค้นหาต่อไป
+++ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมาก และมีแนวคิดที่จะให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมโยธาธิการ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นต่างๆ ทำงานร่วมกับนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ในการตรวจสอบแบบแปลนการก่อสร้างอย่างรอบคอบก่อนที่จะอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างในแต่ละโครงการจากนี้ไป ที่ผ่านมามีการละเลยเรื่องนี้มานานซึ่งได้สร้างปัญหาและความเสียหายอย่างมากมาหลาย ครั้ง ส่วนจะจัดตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะกรรมการหรือไม่ หรือรูปแบบใดนั้น ยังไม่มีระบุถึงในขณะนี้
+++ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน จะเรียกประชุมบอร์ด เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของ คสช.ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของรัฐวิสาหกิจ ในวันนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.กล่าวว่า ขณะนี้แผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของรัฐวิสาหกิจแห่งละแห่ง ยังไม่เรียบร้อย
+++ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน หรือที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมมานานนั้น มีอยู่หลายแห่งที่จะเร่งพิจารณาเพื่อเสนอต่อซุปเปอร์บอร์ดมีทั้งหมด 5 แห่งประกอบด้วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีรัฐวิสาหกิจรายใด ส่งแผนฟื้นฟูกิจการถึงมือ สคร. แต่ก็มีการหารือกันอย่างใกล้ชิด
++++ด้าน พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องฟื้นฟูการบินไทย จะต้องเร่งเพิ่มรายได้ 3,000ล้านบาท และลดรายจ่าย 4,000 ล้านบาท ให้ได้ภายในปี 57 โดยแนวทางการลดรายจ่ายจะทำหลายแนวทาง โดยขอความร่วมมือให้ปรับลดเงินค่ารถผู้บริหารระดับผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไปที่ได้รับค่ารถ 70,000-75,000 บาทต่อเดือน ลง 20-30% รวมทั้งปรับลดค่าทำงานล่วงเวลา
+++นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีแบงก์พร้อมที่จะเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้ สคร.ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจะเน้นแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) การตัดหนี้เน่าออกจากธนาคาร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น โดยเอ็นพีแอลอยู่ 34,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% จะเสนอให้กระทรวงการคลังให้เปิดประมูลขาย 20,000 ล้านบาท ลดเอ็นพีแอลจาก 38% ในปัจจุบันเหลือ 13-14% ได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนไอแบงก์กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลังในสิ้นเดือน ส.ค.นี้
+++ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมแผนฟื้นฟูกิจการคือการปรับโครงสร้างการบริหารภายในใหม่เพื่อให้กระชับไม่ซ้ำซ้อนกันและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงทำการตลาดโทรศัพท์มือถือ 3 จี การขยายตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก่อนหน้านี้ คสช.เห็นชอบในหลักการตามที่บริษัท ทีโอที เสนอแผนการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 3 เส้นทาง เงินลงทุน 5,979.94 ล้านบาท มี 3 เส้นทางได้แก่ 1.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเอเชีย-ยุโรป 1 (AAE1) 2.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาต์อีสเอเชีย-มิดเดิล อีสต์-เวสเทิร์น ยุโรป 5 (SEA-ME-WE 5) และ 3.โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทาง Southeast Asia-Japan Cable System (SJC)
++++ลงทะเบียนต่างด้าว ในกรุงเทพมหานครวันสุดท้าย หลังเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม - 14 สิงหาคมนี้ เบื้องต้น มีรายงานข่าวว่า บางศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีปัญหาเรียกรับค่าหัวคิวรายละ 2000-5000 บาท บางแห่งมีเหตุการณ์ เปิดรับบัตรคิว 8.00 น. แต่เวลาผ่านไปเพียง5 นาที บัตรคิวหมด รับได้แค่วันละ 300 คน ทำให้ยังมีแรงงานต่างด้าวตกค้างอยู่ สำหรับศูนย์บริการในกทม. 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี ศูนย์เยาวชนลุมพินี เขตปทุมวัน ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา และศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา(บางบอน) เขตบางบอน สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เมื่อมาถึงต้องกรอกทะเบียนประวัติ และรับบัตรคิว หลังจากนั้นไปตรวจปัสสาวะ หากพบว่ามีสารเสพติดจะส่งมอบให้ตำรวจและจะไม่ดำเนินการต่อทะเบียนให้ แต่หากไม่พบจะดำเนินการต่อไปสู่การลงทะเบียน และไปชำระเงินเป็นจำนวน 1,305 บาท จากนั้นจะไปเจาะเลือดและพบแพทย์ หากพบว่ามีเชื้อที่อยู่ในภาวะแพร่กระจาย เช่น วัณโรค ก็จะทำการรักษาให้ระดับหนึ่งก่อนจะส่งกลับ ซึ่งจากผลตรวจตอนนี้ยังไม่พบแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00-16.00