ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 จำนวน 70 มาตรา มีผลบังคับใช้แล้ว
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก่
+++เมื่อศาลประทับรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
มาตรา 17 เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดํารงตําแหน่งทางการเมือง กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตําแหน่ง หรือคําพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตําแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด 6 อุทธรณ์ หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
+++ไม่นับอายุความคดี
มาตรา 25 ในการดําเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
ในกรณีมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
+++ศาลสามารถรับฟ้องได้ แม้จำเลยไม่มา
มาตรา 27 ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล
+++พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้
มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสําเนาฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จําเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจําเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจําเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกําหนด
ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและได้มีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลยแต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจําเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคําพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทําไปแล้วต้องเสียไป
+++ถอนฟ้องไม่ได้ เว้นกระทบความยุติธรรม
มาตรา 30 เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เว้นแต่จะได้ความว่า หากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม
+++จำเลยจะอุทธรณ์ต้องมาศาล ถ้าโทษถึงประหาร-จำคุกตลอดชีวิต อุทธรณ์อัตโนมัติ
มาตรา 61 ในกรณีที่จําเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์
มาตรา 62 คดีที่ไม่มีอุทธรณ์คําพิพากษา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษา แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจําคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งสํานวนคดีดังกล่าวต่อไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 63
มาตรา 63 การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจํานวนเก้าคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดีคําวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะให้ถือว่าเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ให้นําความในมาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 20 และมาตรา 21 มาใช้บังคับแก่การดําเนินคดีชั้นอุทธรณ์ โดยอนุโลม
+++ไม่บังคับย้อนหลังคดีเก่า
ในบทเฉพาะกาล มาตรา 69 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นี้ไม่กระทบต่อการดําเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดําเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดําเนินการต่อไปให้ดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
อ่านต่อ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/099/1.PDF