อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับคนคุกติดวัณโรค เร่งดูแลให้ปลอดภัยไร้กระจาย

25 กันยายน 2560, 15:02น.


การแพร่ระบาดวัณโรคในเรือนจำหลายแห่ง รวมทั้งมีการแพร่เชื้อไปยังผู้ต้องขังรายอื่น รวมกว่าร้อยละ 70 ของผู้ต้องขังทั้งหมด  นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า จากสถานการณ์วัณโรค ประเทศไทยติดอันดับในกลุ่ม 14 ประเทศที่มีปัญหาภาวะวัณโรคสูง ทั้งวัณโรคทั่วไปและวัณโรคดื้อยา ซึ่งค่าเฉลี่ยในประเทศไทยคือ 171 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยโรคนี้มักจะเกิดกับกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับในปัจจุบันเรือนจำมีความแออัดสูงมากทำให้เกิดการติดต่อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย  ปัจจุบัน พบผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ 142 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 3,368 คน จากจำนวนผู้ต้องขัง 310,000 คน เทียบเป็นความชุก 1,086 คน ต่อประชากร 100,000 คนโดยผู้ต้องขังที่ถูกรับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรคจะได้รับยารักษา และอยู่ในห้องที่แยกการควบคุมในระยะแพร่เชื้อ 2 เดือนแรก จากนั้นเมื่อพ้นระยะติดต่อแล้วมีการควบคุมการกินยาทุกวันไปจนกว่าจะหายขาด ส่วนการป้องกันได้มีการแจกหน้ากากอนามัยกับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำ



ด้านกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ สปสช. และ กรมราชทัณฑ์ ได้เห็นความสำคัญในการคัดกรองผู้ป่วยโดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก 100% และตรวจเสมหะผู้ป่วยที่สงสัยด้วย เครื่อง Gene-x-Pert จึงได้พบผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก



อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่าผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยวัณโรคในเรือนจำมีเพียงร้อยละ 1 ของผู้ต้องขังทั้งหมด หรือ 1,000 คน ต่อ 100,000 คน แต่หากเทียบกับผู้ที่อยู่ภายนอกเรือนจำ อัตราหรือสัดส่วนผู้ป่วยวัณโรค จะพบแค่ 100 ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.1  เท่านั้น ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยในเรือนจำเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าสูงมาก โดยมากกว่าถึง 10 เท่า ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากที่มีคัดกรองแยกผู้ป่วย ก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ยาตามระยะ จะมีแพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่กลับไปแพร่เชื้ออีก ยืนยันว่าการรักษาผู้ป่วยวัณโรคของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO



 

ข่าวทั้งหมด

X