กิจกรรมการประกวดผลงาน "เยาวชนสานต่อพระราชดำริ" ในโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสานต่อพระราชดำริ (RDPB Camp) โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)นายปวัตร์ นวะมะรัตน รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่าสำนักงาน กปร. ได้จัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) ต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 7 เพื่อให้เยาวชนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยบูรณาการการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจากพื้นที่จริง และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่เยาวชนและชุมชนต่อไป
การประกวดผลงาน “เยาวชนสานต่อพระราชดำริ” ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 22 ทีม ซึ่งจะต้องนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ และความสามารถของเยาวชนมานำเสนอโครงการที่จะสานต่อพระราชดำริ ไปสู่ชุมชนหรือสถาบันการศึกษา ในรูปแบบนิทรรศการมาจัดแสดงบริเวณอาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่นโครงการสายใยแห่งลำปาว ทีมลูกไดโนเสาร์เมืองน้ำดำ 2 จากวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์, โครงการสู้วิกฤตขยะชุมชนน้ำเค็มดินเค็ม สู่ภูมิทัศน์กินได้ตามวิถีพอเพียง ทีม GenA จิตอาสารำไพพรรณี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี, โครงการนวัตกรรมรูแบบใหม่กับ “ฝายกั้นไฟ” ที่ยั่งยืน ทีมรามฯรักษ์ป่า 1 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา, โครงการการใช้ประโยชน์สมุนไพรจากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ทีม H3 (H Cube) จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี, และ โครงการการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้งในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรและชุมชนใกล้เคียง ทีมใบไม้ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
นางสาวไซนับ เบ็ญดารา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี เยาวชนผู้เข้าประกวดจากทีมสีน้ำเงินแห่งกรมสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โครงการของกลุ่มได้นำหลักคิดวิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้เพื่อสืบสานวิถีอาชีพและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ของประชาชนในพื้นที่รอบอ่าว ปัตตานี โดยการสร้างแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ในทะเลพร้อมปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนมีส่วนร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลรอบพื้นที่อ่าวปัตตานีลดลงอย่างรวดเร็ว นื่องจากเครื่องมือหาปลาที่ทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง กลุ่มจึงได้ลงพื้นที่ชุมชนส่งเสริม วิธีอาชีพและภูมิปัญญาชาวบ้านโดยใช้ ซั้งกอ หรือปะการังเทียม สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะสามารถนำวัสดุธรรมชาติ เช่นลูกมะพร้าว เศษไม้ มาผูกเชือก และนำไปไว้ตามแนวชายฝั่งเพื่อให้ปลามาอาศัยอยู่และสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นโดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีเรือของตนเองในการออกไปหาปลา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถมีรายได้ มีแหล่งอาหารสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ หรือขายที่ดินในพื้นที่ให้กับนายทุน
ผลงานของทีมที่สามารถน้อมนำแนวพระราชดำริมาจัดแสดงได้อย่างสมบูรณ์เป็นรูปธรรม และสามารถนำไปต่อยอดขยายผลได้จริง จะได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจากสำนักงาน กปร. และทุนดำเนินโครงการ จำนวน 5 รางวัล ๆ ละ 20,000 บาท
..
ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี