ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบหมาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระสำคัญคือ การแต่งตั้งรักษาการ และคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คนใหม่ แทนนางสาลินี วังตาล ที่หมดวาระ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน
โดยในเวลา 12.10 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปราชการที่จังหวัดชลบุรี โดยมีกำหนดกล่าวบรรยายพิเศษและเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนามิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จากนั้นจะเดินทางกลับกรุงเทพ
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดเวทีสาธารณะ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย: สถานะและก้าวต่อไป ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ เขตปทุมวัน
ในช่วงบ่าย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหาและเจรจา ภายใต้คณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ทำเนียบรัฐบาล
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ที่กระทรวงกลาโหม
ส่วนที่อาคารรัฐสภาในวันนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต้อนรับคณะกรรมการกฎหมายกัมพูชาที่เข้าเยี่ยมคาราวะ และเลี้ยงรับรองทูตกัมพูชา ส่วนคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสนช.ประชุมตามปกติ เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.
ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างระเบียบ กสม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจดแจ้งองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพ พ.ศ.... ที่ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
กรณีที่มีข้อสงสัยหาก สนช. ตีตกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังพ้นกรอบการทำงานของ กรธ. ไปแล้ว 240 วัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่าหากเป็นเช่นนั้นก็จะนำประเด็นที่ไม่เห็นด้วยมาปรับแก้ โดยไม่จำเป็นต้องยกร่างขึ้นใหม่ โดยขณะนี้การพิจารณาเหลืออยู่ 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่กรธ.กำลังพิจารณาอยู่ และร่างพ.ร.บ. ประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องรีบดำเนินการ ให้เสร็จสิ้น หากไม่ทันก็จะต้องนัดประชุมเพิ่มในวันเสาร์-อาทิตย์
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. เพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ... มีกำหนดส่งให้สนช.วันที่ 26 กันยายนนี้ และคาดว่าจะบรรจุเข้าวาระการประชุมได้ในวันที่ 28 กันยายนนี้, ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ... ขณะนี้กำลังพิจารณารายละเอียด คาดว่าสัปดาห์หน้า จะส่งให้ ป.ป.ช.พิจารณารายละเอียด และส่งให้สนช.พิจารณาในวันที่ 24 ตุลาคมเป็นอย่างเร็ว หรือวันที่ 31 ตุลาคมเป็นอย่างช้า, ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ทางกรธ.คาดว่าจะส่งให้สนช.ได้ในวันที่ 21 พฤศจิกายน และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. คาดว่าจะส่งให้สนช.ได้ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ส่วนบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และยังมีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กรอิสระอื่นๆ กรธ.จำเป็นต้องดูให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
..