นายฟิลิปโป แกรนดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยคูตาปาลอง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศว่า รู้สึกตกใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของเมียนมา เมื่อได้รับฟังเรื่องราวจากคำบอกเล่า ทั้งการที่ผู้ปกครองถูกสังหาร ครอบครัวแตกแยก การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการเยียวยาบาดแผล และอาจจะต้องใช้เวลานานยิ่งกว่าในการดูแลตามหลักการขั้นพื้นฐาน ซึ่งองค์กรบรรเทาทุกข์ และสหประชาชาติจะพยายามจัดหาที่พักพิง อาหาร และป้องกันโรคระบาดต่อไป
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติประเมินว่า จะต้องใช้เงินจำนวนถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเป็นเวลาถึง 6 เดือน ขณะที่นายแพ็ททริค เมอร์ฟีย์ รองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยภายหลังเดินทางเยือนเมียนมา 3 วันในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ ต้องการให้เมียนมาดำเนินการยุติความรุนแรงโดยด่วน มิฉะนั้น ปฏิบัติการปราบปรามชาวโรฮิงญาของกองทัพเมียนมาอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดเหตุก่อการร้าย ทั้งนี้ นายอาเดล อัล-จูแบร์ รมว.ต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย กล่าวสุนทรพจน์ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พร้อมกับประณามนโยบายการปราบปรามชาวโรฮิงญา ในขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลยังคงรายงานอ้างวิดีโอและภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งแสดงให้เห็นภาพกลุ่มควันที่ยังคงลอยมาจากหมู่บ้านหลายแห่งในรัฐยะไข่
...
(1150 F171)