สำนักข่าว AFP รายงานว่า ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐฯ อียิปต์ คาซัคสถาน เซเนกัล และสวีเดนร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC จัดการประชุม เพื่อหารือสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา ในสัปดาห์หน้า โดยต้องการให้นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้บรรยายสรุปต่อที่ประชุม ซึ่งเอธิโอเปีย ประธาน UNSC อยู่ระหว่างการหารือเพื่อกำหนดห้วงเวลาการประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ UN ระบุว่า มีผู้อพยพชาวโรฮิงญากว่า 420,000 คนอพยพไปหาสถานที่ปลอดภัยในบังกลาเทศ เพื่อหลีกหนีการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมา อาทิ การเผาหมู่บ้าน และข่มขืน ขณะที่ UN เรียกร้องให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงชำระล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเรียกว่า เป็นการสังหารหมู่
ด้านทางการบังกลาเทศได้ปล่อยตัวช่างภาพชาวเมียนมา 2 คน ซึ่งรายงานข่าววิกฤตการณ์ชาวโรฮิงญาให้นิตยสาร “จีโอ” ของเยอรมนี โดยทั้งสองคนถูกควบคุมตัวในข้อหาจารกรรมเมื่อต้นเดือนในเขตค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 420,000 คน ลี้ภัยมาตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
ขณะที่ตำรวจบังกลาเทศเปิดเผยว่า ช่างภาพทั้งสองคนได้รับการประกันตัว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทั้งสองคนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเมียนมาหรือไม่
ขณะที่ทนายเปิดเผยว่า ช่างภาพทั้งสองคนถูกตั้งข้อหาการแสดงตนและให้ข้อมูลเป็นเท็จ โดยใช้วีซานักท่องเที่ยวเข้าประเทศแทนที่จะใช้วีซาผู้สื่อข่าว นอกจากถูกตั้งข้อหาจารกรรมแล้ว อย่างไรก็ตาม ทนายความปฏิเสธข้อกล่าวหาจารกรรมแทนลูกความ ทั้งยังยืนยันว่า 1 ในผู้สื่อข่าว 2 คนเป็นช่างภาพที่ชนะรางวัล ซึ่งทำงานให้กับนิตยสารและหนังสือพิมพ์ชื่อดัง เช่น นสพ.นิวยอร์กไทม์ส นสพ.การ์เดียน และนิตยสารเนชันแนลจีโอกราฟฟิก ขณะที่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวได้ออกมากระตุ้นให้บังกลาเทศยกเลิกข้อหาทั้งหมด โดยระบุว่า ผู้สื่อข่าวที่รายงานวิกฤตการณ์ชาวโรฮิงญาควรได้รับอิสรภาพในการรายงานข่าว
ทีมต่างประเทศ
CR:www.samaa.tv,AFP