รฟม.เดินหน้าเชื่อมต่อระบบราง ด้านกรมเจ้าท่า พัฒนาท่าเทียบเรือ แก้ปัญหาจราจร

20 กันยายน 2560, 13:15น.


การนำเสนอแนวทาง และแผนงานการแก้ไขปัญหาจราจร โดยบูรณาการระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางราง นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการจราจร ทำให้เกิดรฟม. ขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งทุกคนเข้าใจว่าการขนส่งทางราง เป็นระบบการขนส่งที่ดีที่สุด และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรที่ดีที่สุด จึงต้องผลักดันให้มีการขนส่งมีประสิทธิภาพ พร้อมยอมรับว่า รฟม. ตามปัญหาไม่ทัน จากความติดขัดในเรื่องต่างๆ แต่ในปีนี้รฟม. เซ็นสัญญาได้หลายฉบับ จากการเร่งรัด ผลักดันจากทางรัฐบาล



โดยการแก้ปัญหาเรื่องการเดินทาง รฟม. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน มีจุดจอดรถเมล์ ท่าเรือ ที่เชื่อมต่อกัน เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และขณะนี้ รฟม. จัดทำจุดจอดรถจักรยาน จักรยานยนต์ และจะพยายามทำให้ได้ทุกสถานี อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมา พบว่ารฟม. ขอพื้นที่จัดทำทางขึ้น-ลงสถานีกับหน่วยงานราชการ ยากลำบากยิ่งกว่าขอพื้นที่จากภาคเอกชน เพราะติดขัดในเรื่องของข้อกฎหมาย



สำหรับปัญหาค่าโดยสารที่มีราคาค่อนข้างสูง นายธีรพันธ์ ระบุว่า สาเหตุเกิดจากการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าที่มีมูลค่าสูงมาก รฟม. จึงต้องคำนวนค่าโดยสารให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้คุ้มทุน และไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้โดยสาร ขณะที่ในต่างประเทศ ใช้พื้นที่เวนคืนมีหารายได้เสริม ทดแทนการเก็บค่าโดยสารในอัตราที่สูง แต่ในประเทศไทยติดปัญหาในด้านของกฎหมาย ทำให้การหารายได้ของ รฟม. ยากลำบาก



นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ทุกวันนี้การขนส่งทางน้ำ เป็นระบบการขนส่งทางเลือกของประชาชน ทั้งในเมืองและรอบเมือง ปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการเรือคลองแสนแสบ และแม่น้ำเจ้าพระยา วันละ 100,000 คน มีการพัฒนาท่าเทียบเรือให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน สายสีแดง และเชื่อมต่อกับป้ายรถเมล์ โดยการจัดเส้นทาง จุดจอดเรือ จะวิเคราะห์จากความต้องการของประชาชน



นายชำนาญ อยู่สอาด ผู้อำนวยการเขตการ เดินรถที่ 8 ขสมก. ระบุถึงวิธีที่จะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ว่า รัฐบาลจะต้องจัดหารถโดยสารที่มีคุณภาพ และเพิ่มปริมาณรถเมล์ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อใช้เป็นแรงจูงใจ  ที่ผ่านมา มีปัญหาการจัดซื้อจากภาคเอกชน ทำให้เกิดความล่าช้า และมองว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ควรจะยกเลิกรถเมล์ธรรมดาได้แล้ว



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข

ข่าวทั้งหมด

X