สนช.หารือ แก้ปัญหาจราจร กทม.-ปริมณฑล ชี้ บริหารจัดการมากกว่าสร้างถนนเพิ่มสร้างระบบราง

20 กันยายน 2560, 11:19น.


การแก้ไขปัญหาจราจร กรุงเทพและปริมณฑล ในการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น "แนวทางแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบองค์รวม" ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ และระบุว่า ปัญหาจราจรส่งผลกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังพบว่ากรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็น เมืองหลวงรถติดมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก และติดอันดับหนึ่งใน 10 เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด  สาเหตุของปัญหาคือ การพัฒนาเมือง, การขยายตัวของเขตเมือง รวมถึงการขาดการบริหารจัดการจราจรที่ดี ที่ผ่านมาเห็นว่ารถยนต์มีมาก และถนนไม่พอก็จะแก้ปัญหาด้วยการตัดถนน ขยายถนน สร้างทางด่วน ทางหลวงพิเศษขึ้น ในลักษณะการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงควรนำปัญหา และการแก้ไขปัญหามาวิเคราะห์และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังร่วมกันกับทุกฝ่าย



ส่วนนายวันชัย ศารทูลทัต รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สนช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง ระบุว่า การแก้ไขปัญหาจราจรจะเกิดผลสำเร็จไม่ได้หากเรายังมุ่งเน้นการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับรถยนต์ การสร้างถนนไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้ จากการที่ไปดูงานในประเทศจีน อังกฤษ และอื่นๆ ได้ข้อสรุปว่าจะต้องเน้นการสร้างระบบราง แก้ปัญหา เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น





ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. อรปภา ชุติกรทวีสิน เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการคมนาคม สนช. และอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง มองว่า ปัญหาของการแก้ปัญหาจราจรทุกวันนี้ คือ การวางแผน ควบคุมสั่งการ แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานช่วยเหลือกัน แต่ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ขณะเดียวกันต้นเหตุของการจราจรติดขัด มาจากความต้องการใช้ถนนมีมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ การบูรณาการแก้ปัญหายังไม่ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน และการบริหารจัดการยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งโจทย์หลักคือจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ ในวันนี้จึงต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อร่างกรอบแนวความคิด และจะต้องนำไปใช้ได้จริง สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม



รองศาสตราจารย์ ดร. อรปภา ระบุว่า การแก้ไขปัญหาจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องสามารถลดจำนวนรถยนต์ทุกชนิดบนท้องถนนได้ ลดการใช้รถส่วนบุคคล ประชาชนหันมาใช้ระบบการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น จะต้องมีหน่วยงานบริหารจัดการ กำกับดูแลอย่างมีดุลยภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแสนล้านบาท



สำหรับการสัมมนา จะมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรโดยการบูรณาการจากระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางราง จากภาคตัวแทนกรมการขนสางทางบก, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.),การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), กรมเจ้าท่า, กรมทางหลวง, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวทั้งหมด

X