แนวทางการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด อ.บางแก้ว จ.พัทลุง โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้ที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นมาเกือบ 50 ปี ทำให้ระบบส่งน้ำที่ชำรุดทรุดโทรมและมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้พื้นที่ดิน จากเดิมที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกแบบโครงการส่งน้ำเพื่อทำนา แต่ภายหลังการเพาะปลูกของชาวบ้านได้เปลี่ยนเป็นปลูกยางพารา ปลูกปาล์ม จาก 100,000 ไร่ เหลือทำนา 7,000 ไร่ ส่งผลให้การส่งน้ำที่ออกแบบเดิม มีความผิดพลาดจำเป็นต้องออกแบบใหม่ อีกทั้งโครงการส่งน้ำนี้ เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างเทือกเขาบรรทัด กับทะเลสาบสงขลา น้ำในแต่ละปีจึงมากกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้น
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสร้างเสร็จเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีความจุที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด แต่ก็ยังเกิดปัญหาเนื่องจากการใช้น้ำมีความจำเป็นต้องแบ่งปันน้ำให้พื้นที่ตอนล่างด้วย จึงยกเครื่องระบบส่งน้ำให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยมีแนวทางการออกแบบ ให้คลองส่งน้ำทำหน้าที่ทั้งส่งและระบายน้ำ ปรับรูปแบบอาคารประกอบ ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการปรับการปลูกพืชให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบเก็บกักน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด ทำเป็นฝายพับได้ ประมาณ 1 เมตร ให้น้ำเข้ามาในระบบมากขึ้น และช่วยเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างตอนบน จาก 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 34-35 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำมีศักยภาพในการปล่อยน้ำลงสู่ตอนล่าง ทั้งนี้ ยังต้องประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนแผนการปรับปรุงนอกจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียดแล้ว รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2559 ข้ามมาปี 2560 เกิดภาวะน้ำท่วม บริเวณพื้นที่ชายขอบทะเลสาบสงขลา จึงต้องปรับปรุงระบบกระจายน้ำและสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ได้ประสานหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ส่วนในพื้นที่อำเภอเมืองพัทลุง ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมประจำ เพราะคลองที่ไหลผ่าน ไม่สามารถระบายน้ำเต็มที่
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ขุดคลองระบายน้ำลำเบ็ด เปิดใช้งานเมื่อปี 2559 และสร้างฝายที่ประตูระบายน้ำคลองนาท่อมเพื่อผลักน้ำเข้าสู่คลองระบายน้ำลำเบ็ดสายใหม่ ไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองพัทลุง ขณะเดียวกันในตอนบนของอำเภอเมืองพัทลุง ก็มีแหล่งสามารถเป็นอ่างเก็บน้ำได้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับเตรียมดำเนินการต่อไป
ขณะที่ การรับมือปริมาณน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนพื้นที่ภาคใต้ช่วงปลายปี ในฝั่งตะวันตก เช่น จังหวัดภูเก็ต ขณะนี้เกิดน้ำท่วมอยู่ เนื่องจากปริมาณฝนจำนวนมาก กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่ต่างๆ จึงเร่งสำรวจ ตรวจสอบระบบระบายน้ำ ความพร้อมของแผนงานที่เตรียมมา และเตรียมขุดลอกคูคลอง ขยายเส้นทางน้ำไหล นำสิ่งปลูกสร้างขว้างทางน้ำไหลออกในทันภายในเดือนต.ค.2560 ส่วนช่วงกลางเดือน ต.ค. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองรับมาตรการและกำหนดจุดเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมประจำ ประสานกับกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนแผนงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม