นายกฯ เพิ่มยุทธวิธีแก้ใต้ลดความสูญเสีย เตือนปชช.รับมืออากาศแปรปรวน

15 กันยายน 2560, 16:39น.


การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ออกมาตรการในการเร่งการกระตุ้นการลงทุนโดยการสร้างแรงจูงใจ ให้สิทธิประโยชน์ทั้งไทยและต่างประเทศอย่างเท่าเทียม ยืนยันว่า ไม่ได้ยกประโยชน์ให้ใคร



นอกจากนี้ในช่วงเช้ายังได้มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศมาเลเซีย ในการ ร่วมมือการลงทุนการค้าระหว่างชายแดน ความเชื่อมโยงท่าเรือศุลกากร การพัฒนาเมืองยางที่จังหวัดสงขลาและความร่วมมือเรื่องอื่นๆซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ภายในปี 2561



ส่วนการขอใช้ประโยชน์พื้นที่สองข้างทางรถไฟ ขณะนี้ กำลังเตรียมจัดทำกฎหมายออกเป็นพระราชบัญญัติ เพราะจากเดิมไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน แต่หากมีการคัดค้าน ไม่สามารถดำเนินการได้  นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาล



นายกรัฐมนตรี ยังเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อม แต่ไม่ใช่การตื่นตระหนก เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อให้ระมัดระวังและรับมือ ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย พร้อมยังได้ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศใหญ่แต่ก็ได้รับความเสียหายจำนวนมากจากภัยธรรมชาติ จึงเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดินโคลนถล่มหรือน้ำท่วมฉับพลันให้ติดตามสถานการณ์และอพยพ หากรัฐบาลมีการประกาศแจ้งเตือน



นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุระเบิดในพื้นที่จังหวัดยะลา ว่า เหตุการณ์ในพื้นที่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ดังนั้นอีกฝ่ายจึงพยายามทำให้เหตุการณ์แย่ลง ซึ่งรัฐบาล ได้พยายามใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้าแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่เช่นนั้น เหตุการณ์จะไม่ใช่การก่อการไม่สงบแต่จะเป็นการสู้รบ ขณะเดียวกันได้สั่งการหน่วยงานความมั่นคงระมัดระวังและเพิ่มยุทธวิธีในการทำงานเพื่อลดความสูญเสีย และการปฏิบัติงานจะต้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันการสูญเสียหากคนร้ายก่อเหตุซ้ำ ซึ่งหากยังคงมีเหตุการณ์ เช่นนี้อีกจะถือว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่



ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ ยังคงดำเนินการต่อ และยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบกับการพูดคุย รัฐบาลได้มีการพูดคุยควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และการที่ยังมีการก่อเหตุเกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลที่มีการพูดคุยแล้ว ไม่เป็นไปตามข้อตกลง แต่ต้องไปโทษฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ทำตามสัญญา เช่นเดียวกันกับนักการเมือง ที่หยิบยกประเด็นมาตอบโต้กับตัวเอง ซึ่งต่อจากนี้ตัวเองจะไม่ตอบโต้อีกแล้ว เพราะเป็นเช่นนี้กระบวนการปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการปรองดองจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X