+++ความเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเลือกประธาน และรองประธานสนช. ทั้งสองคนเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานและรองประธานทั้งสองคน จากนั้นจะมีการประชุม สนช.เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานสนช. คนที่ 2 เปิดเผยว่า วันพุธนี้ จะหารือกับพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธาน สนช.และ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานคนที่ 1 เรื่องรายชื่อนายกรัฐมนตรีและข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในการเปิดประชุม สนช.ครั้งต่อไป
+++นายพีระศักดิ์ มองว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกแล้ว เพราะตลอดเวลา 2 เดือน คสช.เข้ามาแก้ไขพร้อมทั้งปลดล็อกประเทศไปได้หลายส่วน ซึ่งประชาชนคงอยากเห็นการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้กล่าวเอาไว้ในบทบาทของหัวหน้าฝ่ายบริหารบ้าง
+++พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวถึง เรื่องนายกรัฐมนตรีว่า เป็นที่ชัดเจนว่าหัวหน้า คสช.นั่งควบนายกรัฐมนตรี เพราะต้องทำงานต่อเนื่องจากสองเดือนที่แล้ว สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ปรากฏในสื่อมีทั้งผิดบ้างถูกบ้างอย่างละครึ่ง ยอมรับว่ากรรมวิธีสรรหาบุคคลมานั่งเป็นคณะรัฐมนตรีต้องติดต่อหรือทาบทามไว้บ้างแล้ว
+++นายสุรชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 การโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี คาดว่าเป็นช่วงประมาณวันที่ 21-22 ส.ค. ส่วนตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะมีความเห็นเป็นอย่างไร
+++ขณะที่ วันที่ 15 ส.ค.จะเปิดประชุม สนช.ครั้งที่ 2 จะเป็นการทำความเข้าใจข้อบังคับต่างๆ และจะมีการหารือกันถึงเรื่อง
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้ใช้ตามกรอบงบประมาณวันที่ 1 ต.ค. หากงบประมาณผ่านเร็วก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี
+++ มีการคาดการณ์อย่างไม่เป็นทางการว่าบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาล เช่น นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. คาดว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายกฎหมาย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคสช. คาดมาเป็น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและ รมว.คลัง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และรองหัวหน้า คสช.ที่ดูแลฝ่ายความมั่นคงและการต่างประเทศ คาดเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คาดเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคมและ รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ คาดเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ คาดเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) คนปัจจุบัน ทั้งคู่มีชื่อเป็นแคนดิเดต รมว.ไอซีที ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม อาจเป็นนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนปัจจุบัน หรือ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผบ.ทบ. และรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. อาจจะเป็น รมว.พาณิชย์ หรือ รมว.พลังงาน พล.อ.ไพบูลย์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. เป็น รมว.ยุติธรรม
+++ขณะที่ มีรายงานความคืบหน้าการพิจารณาบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2557 ว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ กำลังพิจารณารายชื่อจากเหล่าทัพต่าง ๆ ที่เสนอชื่อเข้ามาก่อนที่จะนัดประชุม หารืออีกครั้งถึงตำแหน่งต่าง ๆ ตำแหน่ง 5 เสือกองทัพบก มีรายงานว่า มีการเสนอชื่อ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.(ตท.14) ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ พล.อ.ไพบูลย์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.15) แคนดิเดต ผบ.ทบ.อีกคน ขยับขึ้นเป็นรอง ผบ.ทบ. ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.12) ถือได้ว่าเป็นคนสุดท้ายของ ตท.12 อาจจะขยับขึ้นเป็นประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก (อัตราจอมพล) ก่อนเกษียณ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.14) คาดว่าเป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.และ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.15) คาดว่าดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.
+++สำหรับกองทัพเรือ คาด พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วย ผบ.ทร.(ตท.13)ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ค่อนข้างแน่นอน ด้านกองทัพอากาศ มีชื่อของ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ (ตท.14) ได้ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่เพราะถือว่าอาวุโสสูงสุดในกองทัพอากาศขณะนี้ก่อนจะเกษียณในปี 2559 และคาดว่า พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นว่าที่ผบ.สส.
+++ส่วนเรื่องการสรรหาสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) หลังจากที่เมื่อวันเสาร์มีการคิกออฟเดินหน้าปฎิรูปประเทศไทยไปแล้ว หลายหน่วยงานและแต่ละจังหวัดเริ่มนัดประชุมและเตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของแต่ละจังหวัดและองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง การคัดสรร ในส่วนของ 76 จังหวัดทั่วประเทศว่า สั่งการไปยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดแล้วให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ โดยให้ประสานร่วมกับคณะกรรมการสรรหาทั้ง 5 คนในจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หัวหน้าศาล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัด และเอ็นจีโอ เพื่อสรรหารายชื่อผู้เป็นสมาชิก สปช.ส่งให้ คสช.ได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
+++นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ สปช. เตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว บ่ายวันพุธนี้ สำนักงาน กกต.ก็จะซักซ้อมการทำงานในทุกด้านอีกครั้งก่อนที่จะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร เสนอรายชื่อของบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ในช่วงระหว่างวันที่ 14 ส.ค.ถึง 2 ก.ย. ทั้งนี้ องค์กรนิติบุคคลที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่สะดวกที่จะเข้ามาเสนอรายชื่อได้ที่สำนักงาน กกต. ก็สามารถส่งเอกสาร หลักฐาน มาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนด่วนพิเศษได้เช่นกัน
+++ เมื่อคืนนี้ 22.15 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยเครื่องบินส่วนตัว โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยมารอรับ ผู้สื่อข่าวไม่สามารถเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานได้ห้ามไม่ให้เข้าใกล้ อีกทั้งยังได้ให้รถเข้าไปรับถึงข้างในสนามบินและออกทางด้านหลัง จึงเห็นเพียงแต่ว่ามีการขนย้ายกระเป๋าจำนวน 15 ใบ ขึ้นรถตู้ 2 คัน ตามกำหนดวันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม ที่ต้องเดินทางกลับจากการที่ขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปพักผ่อนต่างประเทศ
+++มีรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอ คสช.ขยายเวลาเดินทางออกนอกประเทศออกไปถึงสิ้นเดือน ส.ค. เพื่อต้องการรอดูความชัดเจนของอัยการสูงสุด (อสส.) ว่าจะพิจารณารับสำนวนฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ทนายยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในการไต่สวนเพิ่มเติม รวมถึงการเดินทางจากสหรัฐต่อไปยังดูไบ ทำให้เกรงว่าจะเดินทางกลับมาไม่ทันในวันที่ 10 ส.ค. แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์หารือกับทีมกฎหมายแล้วเห็นว่า เมื่ออัยการสูงสุดระบุจะใช้เวลาถึง 30 วันพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงแหน่ง ทางการเมืองหรือไม่ นับตั้งแต่ ป.ป.ช.ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 5 ส.ค. และหากไม่เห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ก็จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและ ป.ป.ช.มาพิจารณาทบทวนสำนวนอีกครั้ง ทีมกฎหมายจึงขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับประเทศไทย
+++ด้านนายนรวิทย์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวถึงกรณีที่อัยการสูงสุดตั้งนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงานในส่วนของอัยการหลังจากได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช. ว่า เบื้องต้นทราบว่าคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะนำสำนวนของ ป.ป.ช. มาเป็นหลัก แต่ยังไม่เริ่มพิจารณาสำนวน และยังไม่ได้นำคำร้องขอความเป็นธรรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นเสนอต่ออัยการสูงสุดมาพิจารณาเช่นกัน และหากอัยการ ยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลักยังสามารถยื่นขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมในการต่อสู้คดีชั้นศาลได้ โดยข้อมูลที่จะนำไปยื่นหักล้างการพิจารณาของป.ป.ช. คือกรณีที่ คสช. ระบุว่ามีข้าวเสียหายจำนวนไม่มาก ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อมูลของ ป.ป.ช. ที่อ้างอิงข้อมูลของคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยจิติ เป็นประธาน