ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมียนมา ชี้ ซูจี ผจญปัญหาโรฮิงญา หลังกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัว

13 กันยายน 2560, 16:17น.


ปัญหาความขัดแย้งของเมียนมาร์ ที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิญา ในวันนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ จัดเสวนา "โรฮิงญา เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด" โดย รศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา ระบุว่า ปัจจุบันมุมมองความสนใจในเรื่องของโรฮิงญา คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การวางตัวของนางออง ซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และการกระทำของกองทัพในลักษณะต่างๆ แต่ต้องทำความเข้าใจถึงสถานะของนางออง ซาน ซูจี ในขณะนี้ก่อนว่าเป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็นนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนางออง ซาน ซูจี ไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากฐานเสียงส่วนใหญ่ของนางออง ซาน ซูจี คือ ชาวพุทธ หากนางออง ซาน ซูจี ชูประเด็นเรื่องการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา คะแนนเสียงจะหายไป ประกอบกับในรัฐยะไข่ มีพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อต้านชาวโรฮิงญา ชนะการเลือกตั้ง และมีความพยายามที่จะผลักดันชาวโรฮิงญาไปบังคลาเทศ มีกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงร่วมอยู่ด้วย ประกอบกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี ไม่ได้รับการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก





รศ.ดร. สุเนตร เล่าถึงประวัติศาสตร์ชาวโรฮิงญา ว่า โรฮิงญาเข้ามาอยู่ในเมียนมาในปี 1824 ซึ่งเมียนมากับโรฮิงญามีความขัดแย้งมานาน ในอดีตโรฮิงญาตกเป็นกองกำลังของอังกฤษในการทำสงคราม และเป็นแรงงานของอังกฤษ รวมถึงการเป็นทหารของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำการรบกับญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงนั้นเมียนมาทำสงครามร่วมกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อทำสงครามจบลง ยังมีชาวโรฮิงญาตกค้างอยู่ในเมียนมา



ในอดีตชาวโรฮิงญาได้รับสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ด ซึ่งเป็นบัตรประจำตัวของชาวโรฮิงญา ได้รับอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุ ฯลฯ แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรัฐบาลทหาร ที่มีนโยบายกวาดล้าง ปราบปราม ปลดสถานะชาวโรฮิงญา มีความขัดแย้งในเรื่องสีผิว ภาษา ศาสนา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยเปิดเผยต่อสาธารณะชน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเมียนมาปิดประเทศ และแม้ว่ารัฐบาลเมียนมาจะยืนยันว่าเป็นปัญหาภายใน แต่ขณะนี้เป็นปัญหาในเรื่องพรหมแดนแล้ว และยังพบกลุ่มชาวโรฮิงญาบางกลุ่มติดอาวุธ มีความคิดที่จะแบ่งแยกดินแดนในเมียนมาด้วย





ด้านผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโรฮิงญากับบริบทการเมืองสมัยใหม่ของเมียนมา ว่า ต้องระมัดระวัง อย่าทำให้ประเด็นความขัดแย้งของชาวเมียนมาและโรฮิงญา เป็นเรื่องศาสนา และการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ประเด็นในกลุ่มเอเชียใต้ต้องร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แม้ว่าขณะนี้จะมีบางประเทศพยายามจะพูดถึงปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีรัฐบาลใด ยินยอมที่จะให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง ตอนนี้ประเทศต่างๆ ต่างกดดันนางออง ซาน ซูจี ให้แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่บทบาทของนางออง ซาน ซูจี ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพ กระทรวงต่างๆ ได้ เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ และไม่มีใครกดดันนายพลเต็งเส่งเลย ขณะเดียวกันชีวิตความเป็นอยู่ การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ต้องปกปิดความเป็นมุสลิม ผู้ที่เป็นมุสลิมในในพรรค NLD ถูกลอบยิง และชาวมุสลิมที่จะไปเลือกตั้ง ต้องไม่แต่งกายเป็นมุสลิม ส่วนภาคประชาสังคมในเมียนมา ยังไม่ก้าวหน้าเสมอไป มีบางส่วนที่เป็นชาตินิยมรุนแรง ภาคประชาสัมคมที่เป็นพุทธแท้ ถูกจับสึกจนเกือบหมด และไม่มีบทบาทในการชี้นำชาวพุทธในเมียนมา

ข่าวทั้งหมด

X