การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือบัตรแมงมุม ในงานสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร (สนข.) กล่าวว่า หลังจากได้เชิญผู้ประกอบการทั้งภาคขนส่ง และนอกภาคขนส่ง หารือเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและตกลงเงื่อนไข พบว่า กลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคขนส่ง เช่น ธนาคาร ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเพิ่มจำนวนการใช้ระบบตั๋วร่วมให้เกิดความหลากหลาย และจะเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าภาคเอกชนจะเข้าร่วมโครงการอีก เนื่องจากเป็นประโยชน์ เพราะมีบัตรเดียวสามารถใช้งานได้หลากหลาย ส่วนในระยะแรกที่จะเริ่มในเดือน ต.ค.2560 ถือเป็นส่วนสำคัญมาก ซึ่งจะยังไม่ได้ใช้ร่วมกับหน่วยงานนอกภาคการขนส่ง เพราะจะให้บัตรทำหน้าที่กับภาคการขนส่ง เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าแอร์พอตลิ้ง และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ก่อน
ส่วนการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร ขสมก. จะมีการติดตั้งไว้บนรถโดยสาร ยอมรับในช่วงแรกอาจเกิดความสับสนระหว่างผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จะได้ใช้ระบบตั๋วร่วมคู่กันไปด้วย กับ ประชาชนทั่วไปที่จ่ายค่าโดยสารปกติ และคงต้องใช้ระยะเวลาที่จะแก้ไขปัญหาความสับสนนี้ได้
ขณะที่วันที่ 18 ก.ย.2560 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการประชุมผู้บริหาร เพื่อหารือในเรื่องที่ต้องรับทราบ และเรื่องที่ต้องอนุมัติเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม และหลัง 18 ก.ย.จะมีการลงนามในสัญญา ที่กระทรวงคมนาคม ร่วมกันทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน (BEM) รวมทั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบระบบขนส่ง เพื่อให้มั่นใจในการใช้ระบบตั๋วร่วม ทั้งนี้พยายามเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ยังคงติดขัดเรื่องระยะเวลาติดตั้งระบบ โดยเฉพาะตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ที่มีน้อย จึงต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนการแจกบัตรต้นแบบ 200,000 ใบ เพื่อทดลองใช้ ขณะนี้ยังไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะแจกจ่าย อีกทั้งต้องขึ้นอยู่กับรฟม. จะเป็นผู้กำหนดด้วย นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงผู้มีรายได้น้อย โดยมีข้อสั่งการให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ระบบรถไฟฟ้าได้ และการทำระบบขนส่งมวลชน แปลว่าต้องทำให้คนส่วนใหญ่ สามารถใช้ระบบได้อย่างทั่วถึงด้วย
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม