ผู้ว่าฯ กทม. เปิดอุโมงค์ระบายน้ำคลองบางซื่อ แก้น้ำท่วมขัง 6 เขต

06 กันยายน 2560, 15:30น.


การเปิดใช้ระบบสูบน้ำโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานที่ก่อสร้างสถานีสูบน้ำอุโมงค์บางซื่อ ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 เขตดุสิต พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว ร้อยละ 95.24 เหลือเพียงงานเก็บรายละเอียดภายนอกอีกเล็กน้อย แต่สามารถเปิดใช้งานได้แล้วในวันนี้ ทั้งระบบเดินเครื่องสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า อุโมงค์ระบายน้ำ และห้องควบคุมทั้งระบบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม จากพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ 6 เขตได้แก่ จตุจักร บางซื่อ ดุสิต พญาไท ดินแดง และห้วยขวาง รวม 56 ตารางกิโลเมตร ให้ไหลลงสู่อุโมงค์ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย





อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 6.40 กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ที่อาคารทิ้งน้ำวัดแก้วฟ้าจุฬามณี มีกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นการช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ลดระยะเวลาการเดินทางของน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมถนน 6 สายหลัก ได้แก่ ถนนพหลโยธิน จากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว, ถนนวิภาวดีรังสิต จากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว, ถนนรัชดาภิเษก จากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ, ถนนลาดพร้าว จากสี่แยกรัชดาลาดพร้าว ถึงคลองบางซื่อ, ถนนกำแพงเพชร จากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร, ถนนสามเสน จากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย รวมทั้งช่วยเพิ่มการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวด ช่วงถนนพหลโยธิน ถึงถนนวิภาวดีรังสิตด้วย





อย่างไรก็ตาม อุโมงค์แห่งนี้จะสามารถรองรับน้ำฝนได้ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง รองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในคลองบางซื่อ จากโครงการบำบัดน้ำเสียระยะที่ 4 ปริมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน





พลตำรวจเอกอัศวิน ระบุว่า อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เป็นอุโมงค์ที่ 4 ที่เปิดใช้ ปัญหาน้ำท่วมใน 6 เขตเศรษฐกิจจะดีขึ้น ในอนาคตจะเป็นเปิดใช้อุโมงค์คลองเปรมประชากรอีกหนึ่งแห่ง เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับความสะดวกขึ้น และแม้ว่าฝนจะตกเกินกว่าความสามารถในการระบายน้ำของอุโมงค์ยักษ์ แต่การระบายน้ำจะดียิ่งขึ้น ส่วนพื้นที่ยังไม่มีอุโมงค์ยักษ์ ทางกรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเอาไว้ให้แล้ว และขอฝากประชาชนให้ทิ้งขยะให้เป็นที่ ในจุดที่รถขยะจะไปเก็บ สำหรับขยะชิ้นใหญ่ ที่รถขยะไม่สามารถขนได้ แต่ละสำนักเขตจะจัดจุดทิ้งไว้ให้ในวันอาทิตย์



ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์บึงหนองบอน ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง เบื้องต้นเรียกคุยกับผู้รับเหมา ให้ก่อสร้างเสร็จสิ้นตามที่สัญญากำหนดไว้ จะได้มีการต่อสัญญากันอีกครั้ง



ทั้งนี้โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2556 วงเงินก่อสร้างกว่า 2,400 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วยอาคารรับน้ำรัชดาภิเษก (บ่อ 1) อาคารรับน้ำวิภาวดีรังสิต (บ่อ 2) อาคารรับน้ำกำแพงเพชร (บ่อ 3) อาคารสถานีสูบน้ำเกียกกาย (บ่อ 4, 5) อาคารทิ้งน้ำวัดแก้วฟ้าจุฬามณี (บ่อ 6) อาคารสำนักงาน 5 ชั้น





ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้วจำนวน 7 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 19 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 155.50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ความยาวประมาณ 1.10 กิโลเมตร, อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ความยาวประมาณ 1.88 กิโลเมตร, อุโมงค์ระบบระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.40 เมตร ความยาวประมาณ 6.79 กิโลเมตร และ 1.50 เมตร ความยาวประมาณ 1.90 กิโลเมตร, อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ความยาวประมาณ 1.32 กิโลเมตร, อุโมงค์ระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 42 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร ความยาวประมาณ 1.10 กิโลเมตร, อุโมงค์ระบบระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9-รามคำแหง) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาวประมาณ 5.11 กิโลเมตร



ผู้สื่อข่าว:ปภาดา พูลสุข 



 

ข่าวทั้งหมด

X